วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทหินบ้านพลวง

ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท ตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 900 เมตร มีป้ายบอกทางเข้าไปถึงตัวปราสาทได้โดยสะดวกครับ
.

ปราสาทหินบ้านพลวง เป็นปราสาทสรุก หรือศาสนสถานศูนย์กลางประจำชุมชนโบราณ ซึ่งมักจะสร้างขึ้นเป็นหลังเดี่ยว สามหลังหรือห้าหลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหลังกลางจะเป็นที่ประดิษฐาน "ศิวลึงค์" อันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดูลัทธิบูชาพระศิวะหรือ "ไศวะนิกาย" ในราวพุทธศตวรรษที่ 16

.


.

ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหินขนาดเล็กได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี 2514 - 16 โดยวิธีการ "อนัสติโลซิส" (การรื้อมาและประกอบเป็นจิ๊กซอว์ขึ้นไปใหม่ เสริมโครงสร้างและรากฐานใหม่ หินส่วนไหนขาดก็เติมหินใหม่เข้าไปให้สมบูรณ์ โดยไม่ขัดแย้งกับลวดลายศิลปะเดิมของปราสาท) โดย นาย แวนส์ เรย์ ซิลเดรส นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ที่กำลังทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับศิลปะตะวันออกสมัยโบราณอยู่

.
เขาเดินทางสำรวจปราสาทหินมามากมาย ก็ยังไม่ถูกใจ เพราะหลายแห่งเป็นปราสาทแบบ "อโรคยศาลา" จึงไม่มีลวดลายศิลปะการแกะสลักหินให้ศึกษามากนัก จนได้มาพบกับปราสาทหลังหนึ่งในสภาพพังทลาย ทับถมเป็นเนินดินในป่ารกชัฏ ใกล้กับบ้านพลวง

.

ภาพแรกที่เห็นคือลวดลายของหน้าบันที่อยู่เหนือเนินดิน มีรูปเทพเจ้าสลักอยู่สวยงาม เขาจึงเกิดความสนใจ และต้องการที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ตามแนวคิด "อนัสติโลซิส" ที่นิยมใช้กับการบูรณะปราสาทในช่วงนั้น

.

ซิลเดรส ทำเรื่องขออนุญาตกรมศิลปากรและได้รับทุนจากมูลนิธิวิจัยโซเดย์ แห่งสหรัฐอเมริกา มาเป็นงบประมาณในการบูรณะปราสาทบ้านพลวงประมาณ 6 แสนบาทในปี 2514

.
ปราสาทบ้านพลวงเป็นปราสาทหลังเดี่ยว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านอีก 3 ด้านทำเป็นประตูแกะสลักหินเป็นรูปประตูลายไม้ หรือประตูหลอก ตัวปราสาทก่อมร้างด้วยหินทราย ด้านบนเรือนธาตุสร้างด้วยอิฐซึ่งพังทลายลงมาจนหมดแล้ว จึงเหลือตัวปราสาทเพียงครึ่งเดียว มีคูน้ำเป็นรูปตัวยู ( U ) ล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมี "บาราย" หรือสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาก่อน

.


.

ปราสาทหินบ้านพลวง ถึงจะสร้างขึ้นตามแผนผังการวางยันต์มันดาราในคติจักรวาลสากล ตามลัทธิฮินดู แต่ก็มีการผสมผสานลัทธิบูชาพระกฤษณะมาร่วมอยู่ไม่น้อยครับ

.

และด้วยฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ของปราสาทหินบ้านพลวงนี้ ทำให้มีข้อสันนิษฐานกันว่า ปราสาทบ้านพลวงน่าจะมีความตั้งใจสร้างเป็นปราสาท 3 หลังบนฐานเดียวกันในครั้งเริ่มแรก แต่ก็คงเกิดเหตุการณ์สำคัญเช่น สงคราม โรคระบาด ความแห้งแล้ง การย้ายถิ่นฐาน ที่ล้วนส่งผลให้การก่อสร้างปราสาทสรุกหยุดชงักไป

.

แม้แต่ปราสาทที่เห็นอยู่ก็ยังแกะสลักไม่เสร็จนะครับ!!!

.

"หน้าบัน" ทางทิศตะวันออกอันเป็นด้านหน้าขององค์ปราสาท แกะสลักเข้าไปในตัวเรือนปราสาท อันเป็นเทคนิคที่ความนิยมกันในพุทธศตวรรษที่ 16 เพราะหากใช้หินมาทำเป็นหน้าบันแยกออกมา จะต้องเพิ่มฐานและโครงสร้างหินมารองรับอีกจำนวนมาก ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับชุมชนที่มีจำนวนประชากรไม่มากนัก

.


.

ภาพแกะสลักเป็นเรื่องราวของเทพปกรณัม (Mythology) "พระกฤษณะ" กำลังยกเขาโควรรธนะ ป้องกันผู้เลี้ยงวัว โคปาลและโคปีพรรคพวกของพระองค์ จากฝนกรดที่พระอินทร์โปรยลงมา ท่านจะเห็นภาพโคปาลและโคปี รวมทั้งรูปวัว แกะสลักอยู่ที่หน้าบันอย่างชัดเจน

.

เมื่อสังเกตดี ๆ ผมก็ให้นึกขำ ช่างโบราณดันไปแอบบแกะภาพกระรอกกระแตและกวางป่ามาไว้เหนือใบระกาก้านต่อดอกพันธุ์พฤกษา ซึ่งไม่เคยปรากฏเป็นคติในลัทธิความเชื่อใดในการสร้างปราสาทองค์ไหนของวัฒนธรรมเขมร ก็เห็นจะมีแต่ที่นี่แหละครับ

.


.

หน้าบันทางทิศเหนือ ท่าทางจะเป็นช่างแกะสลักคนละคนกันกับทางทิศตะวันออก รูปสลักจึงกลายมาเป็นเทพเจ้าประจำทิศเหนือแทน ซึ่งก็คือท้าวกุเวรประทับบนคชสีห์

.

หน้าบันทางทิศตะวันตก เพิ่งเริ่มจะแกะสลักและหยุดไป ไม่สลักต่อ ซึ่งตามคตินิยมแล้ว "น่าจะ" ตั้งใจสลักเป็นรูปพระวรุณทรงหงส์

.

หน้าบันทางทิศใต้ เป็นรูปบุคคลในท่านั่ง "มหาราชาลีลาสนะ" บนหน้าเกียรติมุข ซึ่งตามคติความเชื่อของฮินดู ควรจะเป็นพระยมทรงกระบือ

.

กลับมาที่ด้านหน้าปราสาททางทิศตะวันออกกันอีกครั้ง จะมีรูปสลักของทวารบาลถือกระบองในซุ้มเรือนแก้ว บริเวณย่อมุมขององค์ปราสาททางซ้ายและขวาของประตู ยังแกะสลักไม่เสร็จครับ

.

และดูเหมือนว่า รูปสลักของทวารบาลถือกระบองทั้งทางด้านหน้าและรูปทวารบาลกับนางอัปสรทางทิศใต้นี้ จะไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกับองค์ปราสาทอย่างแน่นอน เพราะรูปแบบศิลปะแตกต่างไปอย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะแกะสลักในสมัยบายน พุทธศตวรรษที่ 18 มาแล้ว !!!

.

"ทับหลัง" หรือหินใหญ่กดทับหลังประตูเพื่อถ่ายน้ำหนักของหินโครงสร้างปราสาทด้านบนไปทางซ้ายขวา ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของปราสาทนี้ สลักเป็นรูป "พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วเหนือเกียรติมุข ยึดท่อนพวงมาลัยที่คายออกมาจากปาก" พระอินทร์เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์เป็นเทพประจำทิศตะวันออก และเป็นเทพเจ้าที่ท้องถิ่นอีสานใต้โบราณให้ความสำคัญก่อนที่ลัทธิไศวะนิกายและไวษณพนิกายจะมามีอิทธิพลอย่างเต็มตัว

.

จึงมักปรากฏรูปของพระอินทร์ทรงช้าง ในทับหลังหรือหน้าบันทางเข้าหรือทางทิศตะวันออกของปราสาทหินทุก ๆ แห่ง นัยยะคือ"ความหมายมงคลของพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์ (Fertility Ritual)"

.

ทับหลังทางทิศเหนือเป็นรูปสลักเทพปกรณัมรูป "พระกฤษณะกำลังรบกับนาคกาลียะ" เมื่อครั้งนาคกาลียะได้พ่นพิษลงหนองน้ำของหมู่บ้าน ทำให้เหล่าโคปาล โคปีและโคทั้งหลายดื่มกินไม่ได้ พระกฤษณะจึงได้ออกมาต่อสู้กับนาคอย่างดุเดือด

.


.

ทางด้านตะวันตกทับหลังด้านนี้ยังไม่ได้เริ่มแกะสลักรูปใด ๆ ครับ ดูเหมือนว่าทิศด้านหลังจะเป็นทิศสุดท้ายในการแกะสลักของทุกปราสาทหินเสมอ ๆ !!!

.

ด้านทิศใต้ เป็นทับหลังรูป"พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร" จริง ๆ แล้ว ด้านนี้ควรจะเป็นรูปสลักของพระยมทรงกระบือมากกว่า หรือรูปบุคคลด้านบนเหนือขึ้นไปที่หน้าบันจะเป็นรูปพระยมแล้ว

.


.

แต่ทำไมช่างโบราณจึงเอาพระอินทร์มาไว้ในตำแหน่งนี้ ทำไมไม่เอาเรื่องราวเทพปกรณัมของพระกฤษณะมาใส่ไว้ มีปริศนา ความหมายหรือเหตุผลใดซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ ?!!!

.

เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบของรูปสลักที่หน้าบัน เราจะพบรูปสลักของสัตว์นานาชนิดรวมอยู่ในภาพทับหลังอันศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทแห่งเทพเจ้า

.


.

ภาพเล่าเรื่องของสัตว์ชั้นต่ำ ทั้ง ฝูงลิงที่มาเกาะอยู่บนช่อเฟื่องอุบะแทนความหมายภาพฝูงลิงในป่า หงส์ ห่านหรือนกน้ำ กำลังจับปลากินอย่างมีความสุข โดยมีจระเข้แอบจ้องมองอยู่อย่างหิวกระหายในบึงน้ำใหญ่ แม่ม้าพาลูกมาเล็มหญ้า มีเสือคอยจ้องมองอยู่ด้านหลัง วัวนอนหมอบอยู่ทางซ้ายและขวา และสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งแรด หมูป่า และช้าง ในภาพแกะสลักที่ลบเลือน

.

เป็นครั้งแรกที่ปรากฏภาพแกะสลักของ "สัตว์ป่า"และ"สัตว์เลี้ยง" ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวทาง "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ" ให้เห็นสภาพแวดล้อมในอดีตของดินแดนแถบนี้

.

ว่ามีทั้งหนองน้ำ ป่า สัตว์ป่านานาชนิดรวมทั้งจระเข้ !!!!

.


.

และก็เป็นครั้งแรก ที่ภาพของสัตว์ชั้นต่ำได้มาสลักร่วมอยู่บนปราสาทที่อุทิศถวายแก่เทพเจ้า ซึ่งจะไม่ปรากฏในปราสาทใหญ่เพราะไม่ถูกต้องตามหลักคติปรัชญาทางศาสนา

.

แต่ที่ปราสาทบ้านพลวง กลับพบการแหกกรอบความเชื่อ เมื่อช่างท้องถิ่นได้นำความประทับใจใน "บ้านเกิด" อันอุดมสมบูรณ์ของตน มาผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาในเรื่องของ "พระอินทร์" เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์

.

กลายมาเป็นภาพสลักหินของเรื่องราว "ป่าไม้และสัตว์ป่า" จากสภาพแวดล้อมในยุคเขมรโบราณจริง ๆ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยครับ !!!

.

ส่วนภาพสลักตามคติความเชื่อ คือภาพของใบหน้า"เกียรติมุข" หน้าของสิงห์มีแต่ฟันบนไม่มีกรามล่าง บางครั้งก็จะมีลิ้นแลบออกมา มือถือท่อนพวงมาลัยทั้งสองข้าง

.

ภาพของเกียรติมุขหรือหน้ากาล เป็นร่องรอยของการบูชายันต์ "หัวสัตว์" เพื่อความอุดมสมบูรณ์เพื่อบูชาเจ้าแม่ดินในยุคสมัยบรรพกาลก่อนประวัติศาสตร์ทั่วโลก

.

จนเมื่อลัทธิฮินดูไศวะนิกายได้นำหัวตัวพลีกรรมบูชานี้มาใส่ในคติความเชื่อ มีเรื่องเล่าว่า "เกียรติมุขหรือหน้ากาล" เกิดขึ้นจากอำนาจแห่งความโกรธแห่งองค์พระศิวะ เกียรติมุขเกิดจากคิ้วของพระองค์จึงกระโดดออกมาแล้วกัดกินตัวเองแม้กระทั้งขากรรไกรจนหมดสิ้น เหลือแต่หัวท่อนบนลอยไปมา

.

เกียรติมุข จึงแทนความหมายของการโกรธ คือการกัดกร่อนจิตใจและร่างกายของตนเอง หรือ "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า" นั่นเอง

.

เกียรติมุข กลายมาเป็นศิลปะเพื่อสื่อความหมายเตือนใจให้กับผู้พบเห็นได้เข้าใจในความมืดบอดของอารมณ์โกรธา ดังคำรำพันของพระศิวะที่ว่า

.

".... เจ้าเกียรติมุขเอ๋ย เจ้าเกิดจากความโกรธของข้า แล้วข้าได้รู้แล้วว่าความโกรธนั้นจักทำลายทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเองยังกัดกินได้จนหมด ต่อไปนี้เจ้าจงไปเป็นเกียรติมุข สถิตยังเทวสถานเพื่อเป็นคติเตือนใจสาธุชนให้ได้เห็นอำนาจของความโกรธ จะได้ยับยั้งทำลายเสีย มิให้เกิดโทสะขึ้น โลกจะได้ไม่เบียดเบียนกัน และเป็นที่อันเต็มไปด้วยความสงบสุข....."

.

เกียรติมุขจึงกลายมาเป็นความหมายมงคล ช่างศิลปะโบราณได้แต่งเติมรูปมือเข้าไปบางครั้งก็เติมแต่งเป็นตัวสัตว์ ท่อนพวงมาลัยที่คายออกจากปาก แทนความหมายของ "น้ำ" ที่ไหลออกมาสู่เรือกสวนไร่นา ลวดลายพันธุ์พฤกษา ลายก้านต่อดอกในศิลปะการแกะสลักที่พลิ้วขึ้นไปด้านบน แทนความหมายของ "ข้าว"หรือ "ธัญญาหาร" ที่เติบโตเหลืองอร่าม อุดมสมบูรณ์เต็มท้องทุ่ง

.

ภาพความหมายนัยยะแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่มีหน้ากาลอยู่ตรงกลางนี้ จึงเป็นที่นิยมในศิลปะของสังคมที่มีการเพาะปลูก"ข้าว" เช่นเขมรโบราณมายาวนาน และส่งต่อมายังศิลปะของไทยในยุคต่อมา

.

ปริศนาภาพแกะสลักบนทับหลังที่ปราสาทบ้านพลวง ก็คือความหมายของความมงคลในพืชพันธุ์ธัญญาหารที่จะเติบโต หล่อเลี้ยงผู้คนและชุมชนอันเป็นฐานของบ้านเมือง รายล้อมด้วย แหล่งน้ำ ป่าไม้และพรรณสัตว์นานาชนิดนั่นเอง

.

ที่สำคัญปราสาทบ้านพลวง ยังมี "พระอินทร์" เป็นเทพเจ้าในคติศาสนาฮินดู มาเป็นผู้สนองตอบต่อคำสวดวิงวอน และทรงยอมประทับให้หมู่ภาพของสัตว์ชั้นต่ำให้มาอยู่รายล้อม เพื่อให้ผู้ที่มาบูชาที่เทวสถานแห่งนี้จะได้มีความสุขใจ และมั่นใจในผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลผลิตถัดไป

.

ความมั่นใจในความอุดมสมบูรณ์ทั้งใน "ความเชื่อ" (เทพเจ้า) ที่อยู่คู่กับ "ความจริง" (สัตว์ชั้นต่ำ น้ำ ป่า) ที่เขาจะได้ใช้ผลผลิตเหล่านั้นเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย และครอบครัวอันเป็นที่รักตลอดไป

.


.

หากท่านมีโอกาสไปเที่ยวชมปราสาทหินบ้านพลวงอีกครั้ง อย่าลืมแวะไปมุมทิศใต้ของปราสาทเพื่อชมรูปสลักที่มีความหมาย จะกราบไหว้บูชาหรือให้ความเคารพอย่างไร ก็สุดแล้วแต่จะทำกันครับ

ปราสาทศีขรภูมิ



 ปราสาทศีขรภูมิ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจังหวัดสุรินทร์ได้จัดให้มีงานแสดงช้าง ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาชมกันอย่างเนืองแน่น

นับเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ ถึงปีนี้ ๒๕๕๐ งานแสดงช้างมีย่างอายุ ๔ ปีแล้ว

นอกจากงานช้างแล้ว จังหวัดสุรินทร์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมอีกมากมาย ตามคำขวัญของจังหวัด “สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” ช่วงหลังๆ มานี้มีคนต่อท้ายให้ “ศิลปะการต่อสู้เลิศล้ำ จา พนม”

หากต้องการชมการทอผ้าไหมยกทองของบ้านท่าสว่าง ที่ทอผ้านำไปตัดชุดให้ผู้นำเอเปคใส่เมื่อมาประชุมที่บ้านเรา  ก็สามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก ระยะทางก็ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ราว ๑๐ กิโลเมตร และช่วงนี้กำลังอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว ทิวทัศน์สองข้างทางงดงามยิ่งสำหรับการมาท่องเที่ยวแถบอีสานตอนใต้

สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ไม่อยากให้พลาดชมเมื่อมาถึงจังหวัดสุรินทร์แล้ว นั่นคือ ปราสาทศีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ อยู่ทางทิศตะวันออกของตัวจังหวัดสุรินทร์ ๓๔ กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีสะเกษ

ก่อนอื่นใด ผู้เขียนอยากให้ท่านได้รู้จักอำเภอศีขรภูมิพอสังเขป

“ศีขรภูมิ” (สี-ขอ-ระ-พูม) เป็นชื่อที่หากไม่ใช่คนศีขรภูมิแล้วมักจะอ่านยากและเขียนไม่ค่อยถูก บางคนอ่าน “สี-ขอน-พูม” หรือ “สี-ขะ-ระ-พูม” และก็มักจะเขียนว่า “ศรีขรภูมิ” (เรื่องการเขียนนี้ ผู้เขียนเคยถกเถียงกับไปรษณีย์ที่กรุงเทพฯ ที่หาว่าเขียนผิด จนต้องเอาบัตรประชาชนให้ดู)

แค่ชื่ออำเภอก็ชวนให้ติดตามแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นก็เขียนว่า “ศรีขรภูมิ” ซึ่งก็ยังมีโรงเรียนประถมในอำเภอยังใช้ชื่อนี้อยู่ คือโรงเรียนบ้านระแงง (ศรีขรภูมิวิทยาคม) แต่พอเป็นโรงเรียนมัธยมกลับเขียนว่า “ศีขรภูมิพิสัย” (โรงเรียนที่คุณปวีณา  ทองสุก นักยกน้ำหนักหญิงของไทย เคยศึกษาอยู่) งงไหมละครับ

แต่คำที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการในปัจจบันนี้คือ “ศีขรภูมิ” ซึ่ง “ศีขร” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “ยอด, ยอดเขา, ภูเขา” ในความหมายของ “ศีขรภูมิ” จึงน่าจะมีความหมายในทำนองว่า “ที่สูง”

อำเภอศีขรภูมิถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  ปี ๒๔๘๖ จังหวัดสุรินทร์ได้ทดลองย้ายจังหวัดมาอยู่ที่อำเภอศีขรภูมิ ได้ราว ๖ เดือน โดยศาลากลางนั้นตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านระแงง และในปี ๒๔๘๗ กองทัพของจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ส่งทหารมาตั้งกองบัญชาการที่วัดระแงง (อยู่หน้าสถานีรถไฟ) โดยอ้างว่าเพื่อรักษาเส้นทางรถไฟ เพราะเกรงว่าทหารไทยจะตีตลบหลัง 

อาจารย์ประสงค์  จันทา (อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านระแงง) ได้บันทึกไว้ในประวัติอำเภอศีขรภูมิว่า “ทหารญี่ปุ่นมาตั้งกองบัญชาการที่วัดระแงง ตอนเช้ามีการฝึกแถว ตอนเย็นฝึกกายบริหาร เล่นกีฬา เข้มแข็งเด็ดขาด มีระเบียบวินัยมาก สมเป็นประเทศมหาอำนาจ เมื่อสงครามสงบลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งกำลังมาปลดอาวุธที่วัดระแงง ทหารญี่ปุ่นได้ตั้งแถวและให้เกียรติผู้ชนะอย่างน่าสรรเสริญ คือแสดงอาการนอบน้อมถ่อมตัว เวลารับประทานอาหารก็ยืนคอยรับใช้ทั้งนายและพลทหาร เวลาอาบน้ำก็ตักให้อาบถูเหงื่อไคลให้ รู้สึกว่าญี่ปุ่นได้ฝึกพลเมืองของเขาให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย สมเป็นชาติที่เจริญแล้ว”

ในส่วนนี้ ถ้าหากทางการได้จัดทำอนุสรณ์สถานหรือจารึกไว้ไว้วัดระแงงเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพของจักรพรรดิญี่ปุ่น อำเภอศีขรภูมิก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ขึ้นมาอีกแห่ง

และหากย้อนกลับไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ สถานที่ตั้งของอำเภอศีขรภูมิแห่งนี้ ก็น่าจะเป็นสถานที่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวขอมโบราณ เพราะปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนมาจนถึงปัจจุบันนี้ นั่นคือ “ปราสาทระแงง หรือ ปราสาทศีขรภูมิ”

ปราสาทศีขรภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตามหนังสือทะเบียนโบราณวัตถุทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๑๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มี.ค.๒๔๗๘

ตามเอกสารได้กล่าวถึงลักษณะของปราสาทศีขรภูมิ ดังนี้ 

“ปรางค์ประธาน ก่อด้วยอิฐขัดมัน อยู่บนฐานเดียวกัน ๕ องค์ ฐานก่อด้วยแลง มีบันไดอยู่ทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่กลาง มีปรางค์บริวารอยู่ ๔ มุม ปรางค์ประธานยอดหักเหลือเพียงบัวเชิงบาตร ๓ ชั้น สูง ๑๒ เมตร ฐานกว้าง ๑๐.๖๐ เมตร มีประตูทางทิศตะวันออกทำด้วยหินทรายสีเทา ท้องไม้ของประตูทางด้านหน้า จำหลักลายและรูปอัปสรถือดอกบัว ด้านข้างจำหลักลายและรูปทวารบาลยืนกุมกระบองกับอัปสร ศิลาทับหลังประตูกลางจำหลักเป็นรูปเทพสิบกรอยู่อยู่บนแท่นมีหงส์แบก ๓ ตัว อยู่บนเศียรเกียรติมุข มีมือทั้งสองจับเท้าสิงห์ข้างละ ๑ ตัว รูปสิงห์อยู่ในท่ายืนด้วยสองขาหลัง และอุ้งเท้าของสองหน้ากุมดอกบัวบานออก เกสรเป็นลำพวงมาลัยโค้ง ภายใต้วงโค้งของพวงมาลัย จำหลักเป็นรูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี และมีรูปโยคีสกัดอยู่ทั้งหัวแถวท้ายแถว อยู่เหนือปทุมอาศน์”

ลองนึกภาพของศิลาทับหลังตามที่บรรยายไว้ จะเห็นเทพเจ้าตามหลักศาสนาฮินดูอยู่หลายองค์  ซึ่งปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่บูชาพระศิวะเป็นใหญ่ เทพสิบกรนั่นก็คือพระศิวะกำลังร่ายรำ หรือ เรียกกันว่า “ศิวะนาฏราช” โดยมีเทพอีก ๔ องค์ร่วมบรรเลงด้วย กล่าวคือ ไล่เรียงจากทางด้านขวามือของเราในขณะที่แหงนหน้ามอง ภายใต้วงโค้งของมาลัยนั้นพระคเณศถือดอกบัวและชูงวง คล้ายร่ายรำ (เพราะช้างสุรินทร์เวลาเต้นรำก็มักจะชูงวงตามไปด้วย) ถัดมาคือพระพรหม ในที่นี้จะเห็นเพียง ๓ หน้า (เพราะด้านหลังคงสลักไม่ได้) แต่มี ๔ กร กำลังตีฉิ่งและถือดอกบัว
ถัดมาทางด้านซ้ายจะเป็นพระนารายณ์ ๔ กร สองมือบนถืออาวุธประจำตัวคือจักรและสังข์ (รายละเอียดสูญหายบางส่วน) ส่วนสองมือล่างดูเหมือนอยู่ในท่ารำ ส่วนองค์สุดท้ายก็คือนางปารพตี บ้างก็เรียก พระอุมา หรือ บรรพตี  ซึ่งเป็นมเหสีของพระศิวะ มือหนึ่งถือคฑาส่วนอีกมือหนึ่งนั้นรายละเอียดก็สูญหายเช่นกัน

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นมีเหล่าเทวดา ฤษี หงส์  และสัตว์อีกหลายชนิด

เป็นที่ยอมรับจากนักโบราณคดีว่า ศิลาทับหลังของปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้ สมบูรณ์และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้งนั้นสวยงามที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ แม้แต่คนศีขรภูมิเองก็ยังไม่ค่อยทราบกัน  เพราะหากเอ่ยถึงทับหลังแล้ว ผู้คนมักจะนึกถึงทับหลังของปราสาทพนมรุ้ง เพราะมีชื่อเสียงมาจากการเรียกร้องกลับคืนมาจากสหรัฐอเมริกานั่นเอง

นอกจากทับหลังศิวะนาฏราชที่สวยงามแล้ว ทับหลังของปราสาทศีขรภูมิที่เคยสูญหายไปและตามกลับคืนมาได้อีก ๓ แผ่น ปัจจุบันได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ๒ แผ่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายอีก ๑ แผ่น

โดยแผ่นที่เก็บไว้ในจังหวัดสุรินทร์ แผ่นหนึ่งจำหลักเป็นรูปพระกฤษณะจับช้างและคชสีห์ ส่วนอีกแผ่นหนึ่งเป็นพระกฤษณะจับคชสีห์ทั้ง ๒ ตัว (บ้างก็ว่า “ฆ่า” ไม่ใช่จับ) ทั้ง ๒ แผ่นนี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนที่พิมายเป็นพระกฤษณะจับช้างและคชสีห์

ปราสาทศีขรภูมิมีปรางค์ทั้งหมด ๕ องค์ แต่พบทับหลังถึง ๔ ชิ้น อีกชึ้นหนึ่งน่าจะสูญหายไปพร้อมๆ กับเครื่องประดับองค์ปราสาทอีกจำนวนมาก โดยฝีมือมนุษย์นี่แหละ ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์ประสงค์ได้บันทึกไว้ว่า “ปู่ ย่า ตา ยาย และคนเฒ่า คนแก่ เล่าให้ฟังว่า ในระหว่างสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไปจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีฝรั่งมาดูและเอาเชือกหนังผูก ใช้ช้างลากดึงยอดบัวตูมลงมา เพื่อค้นหาเพชรนิลจินดาและสมบัติอันมีค่า…

ภาพถ่ายเมื่อปี ๒๔๗๒
สำหรับหน้าปราสาทองค์กลางใหญ่นั้น มีการขโมยขุดค้นพระพุทธรูปอันล้ำค่าและสลักหินที่ตกเรียงรายอยู่ในลานปราสาทได้ถูกโจรกรรมไปเกือบหมด ต่อมาภายหลังกรมศิลปากรได้ทราบเรื่อง จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บลายสลักหินที่เหลือไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และสืบทราบว่าผู้ที่มาโจรกรรมลายสลักหินนั้นคือ โจรในเครื่องแบบ(ชมภาพได้ที่นี่ครับ)

เมื่อตอนต้นปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา ชมรมคนรักปราสาทศีขรภูมิ ได้เรียกร้องให้นำทับหลังทั้ง ๓ ชิ้นกลับมาไว้ที่เดิม เป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน แต่ได้รับคำตอบจากกรมศิลปากรว่าให้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์นั้นเหมาะสมดีแล้ว เรื่องนี้ก็คงเป็นประเด็นให้อภิปรายถกเถียงกันต่อไป

ไม่เพียงแต่ศิลาทับหลังเท่านั้นที่เป็นจุดเด่นของปราสาทศีขรภูมิ  ซุ้มประตูองค์กลางที่ประดิษฐานทับหลังนั้น เสาทั้งสองยังสลักรูปนางอัปสรหรือนางอัปสราไว้ทั้งข้างหันหน้าทักทายผู้มาเยือน ส่วนด้านข้างนั้น ได้สลักเป็นนายทวารยืนกุมกระบองทั้งสองเสา

ที่สำคัญคือ เป็นนางอัปสราที่หลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทยเช่นเดียวกัน



นอกจากลวดลายสลักเสลาของทับหลังและเสาที่สวยงามแล้ว เครื่องประดับจำพวกกลีบขนุนก็สวยงามไม่แพ้กัน และสิ่งหนึ่งที่อยากให้ท่านสังเกตถึงลักษณะการก่อปราสาทที่เอกสารระบุไว้ว่าก่อด้วยอิฐขัดมัน อิฐแต่ละก้อนนั้นนอกจากมีขนาดไม่เท่ากันยังประสานกันเป็นเนื้อเดียวอีกด้วย นี่คือความอัจฉริยะของช่างสมัยโบราณโดยแท้
ปราสาทศีขรภูมิถือเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอศีขรภูมิและจังหวัดสุรินทร์ โดยตราประจำจังหวัดสุรินทร์นั้นจะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างอยู่ด้านหน้าปราสาทศีขรภูมิ ในอดีตเมื่อ ๔๐ กว่าปีนั้น อำเภอศีขรภูมิเคยจัดงานฉลองปราสาทอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ว่ากันว่ายิ่งใหญ่กว่างานช้างเสียอีก ในแต่ละปีที่จัดนั้น สามล้อทุกคันจะมารวมตัวกันที่สถานีรถไฟอำเภอศีขรภูมิเพื่อรับส่งผู้โดยสาร

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีชาวอำเภอศีขรภูมิยังคงสืบสานประเพณีการฉลองปราสาทศีขรภูมิมาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยยิ่งขึ้น บางปีมีการแสดงแสง สี เสียงประกอบ โดยใช้ชื่องานว่า “สืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ”

หากท่านมีโอกาสมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์  อย่าพลาดไปชมความงดงามของปราสาทศีขรภูมิให้ได้นะครับ.


วนอุทยานพนมสวาย






วนอุทยานพนมสวาย


เขาสวายมีความสำคัญต่อชาวสุรินทร์มาช้านาน คือ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปี บรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือเป็นประเพณีหยุดงาน ซึ่งประเพณีหยุดงานดังกล่าว มีความเชื่อว่า ต้องหยุดการทำงานทั้งหมด และพากันไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวาย เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเชื่อว่าหากใครไม่หยุดทำงานจะมีอันเป็นไปทั้งครอบครัว ประกอบกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าของทุกปี ถือว่าเป็นวันปีใหม่ทางจันทรคติ ประชาชนในท้องถิ่นจึงพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อไปทำบุญขึ้นเขาสวาย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายเพื่อความเป็นสิริมงคล
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เห็นว่าประเพณีขึ้นเขาสวาย เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดสุรินทร์ สมควรได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และส่งเสริมให้ควบคู่กับวิถีการดำรงชีวิตของคนสุรินทร์ตลอดไป จึงได้ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลนาบัว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานประเพณีขึ้นเขาสวาย ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่คู่กับจังหวัดสุรินทร์ โดยเข้ามามีส่วนร่วมและ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ ให้มีขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอันยิ่งใหญ่ ตระการตา จำนวน 19 ขบวนแห่
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 จังหวัดสุรินทร์โดยท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ท่านเกษมศักดิ์ แสนโภชน์) ได้เห็นความสำคัญของเขาสวายจึงได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 4,000,000.- บาท เพื่อพัฒนาเขาสวาย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง โดยก่อสร้างศาลา เสานางเรียง และซุ้มประตู ตลอดทั้งพัฒนาทัศนียภาพบนเขาสวาย เพื่อให้มีความสวยงามน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ท่านพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล) ได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงเขาสวาย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ จึงได้สร้างทางเดินบริเวณโดยรอบพระพุทธสุรินทรมงคล ให้สะดวกต่อการเที่ยวชม ก่อสร้างห้องสุขา ปรับปรุงระบบประปาบนเขาพนมสวาย ตลอดจนจัดหาระฆังจากวัดทุกวัดในจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 1,070 ใบ และขอจากวัดสำคัญในกรุงเทพฯ เพิ่มเติมอีก 10 ใบ รวมเป็น 1,080 ใบ นำมาจัดเรียงอยู่สองข้างทางเดินขึ้นเขา ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะขึ้นไปกราบไหว้พระใหญ่ หรือพระพุทธสุรินทรมงคล สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เคาะระฆัง เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มา

ขึ้น"พนมสวาย" สักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์
สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่ขอมมีอำนาจอยู่ในดินแดนนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองก็ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดง

จนกระทั่งปี พ.ศ.2306 จึงปรากฏหลักฐานว่า หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา ย้ายหมู่บ้าน

จากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม และอุดมสมบูรณ์ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น เมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง

ในปี พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็นเมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง

1.พระพุทธสุรินทรมงคล

2.ศาลาอัฏมุข

3.พระองค์ดำ

4.เต่าศักดิ์สิทธิ์

5.ระฆังที่ราวบันได


จากประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของชาวขอม ได้หลอมรวมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ สิ่งหนึ่งคือการยึดถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม)

ประเพณีที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ ในทุกๆ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ชาวสุรินทร์จะพากันเดินขึ้น "พนมสวาย" หรือเขาสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมือง เพื่อสักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์ คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง สถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหิน ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าศักดิ์สิทธิ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อกันว่าการได้ขึ้นเขาสวายเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

เขาสวายอยู่ในพื้นที่วนอุทยานพนมสวาย สภาพทั่วไปเป็นภูเขาเตี้ยๆ มี 3 ยอด คือยอดเขาชาย หรือพนมเปราะ ยอดเขาหญิง หรือ พนมสรัย และยอดเขาคอก หรือ พนมกรอล

ยอดเขาชาย หรือพนมเปราะ มีบันไดทางขึ้น 224 ขั้นไปถึงยอดเขา มีระฆัง 1,080 ใบแขวนอยู่ตลอดทาง จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ทางจังหวัดและคณะสงฆ์สุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดหาระฆังจากทุกวัดรวม 1,070 ใบ และรับมอบจากวัดสำคัญอีก 10 ใบ ที่สำคัญคือระฆังเอกจากวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้ที่จะขึ้นเขา จะมีโอกาสเคาะระฆังเป็นสิริมงคล ส่วนยอดเขาพนมเปราะเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสุรินทรมงคล" หรือพระใหญ่ พระพุทธรูปประจำเมืองสุรินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2518

ยอดเขาหญิง หรือพนมสรัย เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา มีสระน้ำโบราณ 2 แห่ง ที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์ 2 ตัว ต่อมาภายหลังเกิดภัยอันตราย เต่าทั้งสองจึงเดินลงจากเขาแต่ขณะที่เดินทางถึงเพียงไหล่เขา ก็เกิดแข็งตัวกลายเป็นเต่าหินขนาดใหญ่ 2 ตัว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ

ยอดเขาคอก หรือพนมกรอล พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้าง ศาลาอัฏมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากบนยอดเขาชาย โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ใกล้กันนั้นมีสถูปบรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระเกจิสายวิปัสสนา และศาลเจ้าแม่กวนอิม ไว้เป็นที่เคารพสักการะของผู้ที่นับถือ




วนอุทยานพนมสวาย

งานบุญประเพณีขึ้นพนมสวาย

จังหวัดสุรินทร์ดินแดนแห่งอารยธรรม หลากหลายวัฒนธรรม งานบุญประเพณี “เลิงพนม” หรือที่รู้จักกันทั่วไป "งานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย" เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานเป็นประจำทุกวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (ปี ๒๕๕๑ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน)

นายพูนศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายธงชัย มุ่งเจริญพร นายกอบจ.สุรินทร์ ร่วมกับ นายสุรพล เศวตเศรนี รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายประยุทธ์ เขียวหวาน ฯลฯ
ได้ร่วมกันจัดงานบุญประเพณีส่งเสริม “การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา” ที่พนมสวาย ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วม สวดมนต์ ภาวนา ทำศีลสมาธิ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนพนมสวาย เพื่อความเป็นสิริมงคลเสริมพลังชีวิต
 
ปี ๒๕๕๑ ถือเป็นปีเริ่มต้นที่สำคัญของชาวสุรินทร์ โดยนายพูนศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เชิญชวนชาวสุรินทร์ร่วมกันบริจาคระฆังในนามของวัดต่างๆทั่วจังหวัดสุรินทร์มากถึง ๑,๐๗๐ วัดจัดสร้างระฆัง ๑,๐๗๐ ใบ และเพื่อเป็นศิริมงคลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองปีมหามงคลเฉลิมพระชนม์ครบ ๘๐ พรรษา คณะผู้จัดสร้างระฆัง ได้กราบขอระฆังจากท่านเจ้าอาวาสวัดสำคัญๆ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระเชตุพนฯ วัดระฆังโฆษิตาราม ฯลฯ จนได้ครบ ๑,๐๘๐ ใบ นำมาประดิษฐ์ฐานเรียงรายไว้ที่บันไดทางขึ้นเขาสวาย เพื่อเป็นหนึ่งในกิจกรรมของนักแสวงบุญที่แวะเวียนมา “พนมสวาย” อุทยานธรรมแห่งนี้
สำหรับปีนี้ ได้จัดงานเพิ่มขึ้นอีก ๑ วัน เพื่อเป็นการสมโภชใหญ่ นิมนต์พระเกจิอาจารย์จาก ๑,๐๗๐ วัด ทั่วจังหวัดสุรินทร์ มาสวดมนต์สมโภชระฆัง ในวันเสาร์ที่ ๕ เมษายนตั้งแต่เช้า รวมทั้งจัดพิธีปลุกเสกพระยอดธงที่จัดสร้างขึ้นเพื่อนำรายได้จากการเช่ามาใช้ในการบูรณะอุทยานพนมสวาย
 
เขตอุทยานพนมสวาย
เขตอุทยานพนมสวาย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์   พนมสวาย เป็นภูเขาที่โผล่ขึ้นมาโดดๆบนที่ราบทำนาของจังหวัดสุรินทร์ ห่างจากเทือกเขาพนมดองเร็กประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ห่างจากเขาพนมรุ้งประมาณ ๕๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร
คำ “พนมสวาย” เป็นภาษาท้องถิ่นเขมร "พนม" แปลว่า"ภูเขา" ส่วน "สวาย" แปลว่า "มะม่วง"
“พนมสวาย” เป็นภูเขาไม่สูงประกอบด้วยเขา ๓ ยอด ได้แก่
ยอดที่ ๑ "พนมกรอล" หรือเขาคอก เป็นที่ตั้งศาลาอัฏฐมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและเป็นที่ตั้งสถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิหลวงปู่ดุล อตุโล และศาลเจ้าแม่กวนอิม ในอดีตบนภูเขานี้จะมีศิลาแลงวางเรียงกันเป็นชั้นๆ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๑ เมตร ลักษณะคล้ายคอก จึงเรียกกันว่า "เขาคอก" ปัจจุบันร่องรอยของศิลาแลงดังกล่าวยังคงอยู่
     
ยอดที่ ๒ เรียกว่า"พนมเปร๊าะ" หมายถึงเขาผู้ชาย สูง ๒๑๐ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลและปราสาทหินเขาพนมสวาย พร้อมบาราย ๓ ลูก(สระน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นตามแบบขอม มีศิลาแลงตัดเป็นก้อนๆรูปทรงสี่เหลี่ยมเรียงรายตั้งแต่ก้นสระถึงส่วนบนขอบสระเพื่อป้องกันดินพัง โดยทั่วไปตามสถาปัตยกรรมขอม จะมี ๔ บาราย ซึ่งเปรียบได้กับมหาสมุทรทั้ง๔ ) และเจดีย์ศิลาแลงโบราณ จำนวน ๑ องค์
   
ยอดที่ ๓ เรียกว่า "พนมสรัย" หมายถึงเขาผู้หญิงสูง ๒๒๘ เมตร เป็นที่ตั้งวัดพนมศิลาราม มีตำนานเรื่องเล่าในอดีตสืบทอดกันมาเชื่อว่ามีถ้ำมหาสมบัติ สระน้ำโบราณ และเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์ ๒ ตัว ซึ่งต่อมาอพยพหนีภัยลงจากเขา แต่ไปได้ถึงเพียงไหล่เขาก็ต้องกลายเป็นหิน เชื่อว่าหากใครลบหลู่หรือปีนป่ายบนเต่าหินศักดิ์สิทธิ์นี้จะเกิดภัยพิบัติแก่ตนเองและครอบครัว
  

วัฒนธรรมประเพณี”เลิงพนม” (ขึ้นเขาสวาย)
”เลิงพนม” ประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรษของชาวเขมรสุรินทร์ พวกเขามีศรัทธาต่อประเพณีนี้อย่างแรงกล้า เมื่อถึงกำหนดทุกวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของขอมคนเขมรสุรินทร์ ทุกคนจะหยุดงานทุกอย่างเป็นเวลา ๗ วัน เพื่อการแสวงบุญขึ้น“พนมสวาย” ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวและบ้านเมือง คนหนุ่มสาวก็จะมีโอกาสได้พบปะสนุกสนานรู้จักกัน หลายรายที่พัฒนาเป็นความรักถึงขั้นแต่งงานครองรักครองเรือนไป และยังเชื่อกันว่าหากใครไม่หยุดงาน จะถึงกับมีอันเป็นไป เช่นถูกฟ้าผ่าตายฯลฯ
 
นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมศิริมงคลแก่ชีวิต ได้แก่ พระพุทธสุรินทรมงคล(เป็นปางประทานพร  ภปร.) รอยพระพุทธบาทจำลอง พระพถทธรูปบนเขาหญิง พระพุทธรูปองค์ดำ อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่สาม ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์

เรื่องเล่าตำนาน
ตำนานเรื่องเล่า เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายมีมากมาย เช่นตำนานเกี่ยวกับ “ก้อนหินใหญ่เคลื่อนที่ได้”  ก้อนหินลอยน้ำได้ บ่อเงิน บ่อขมิ้น เดิมที่นี่จะมีขันน้ำ เงิน และขันทอง วางไว้สำหรับสำหรับผู้แวะเวียนผ่านมาได้ใช้ตักน้ำมาดื่มกิน ตามตำนานยังบอกเล่าถึงบ่อน้ำแห่งนี้ว่า ขณะที่ควานช้างนำช้างผ่านมาบนเขา ท่ามกลางฤดูกาลที่แห้งแล้งมาก หาน้ำดื่มกินไม่ได้ ช้างได้อาศัยววงของมันเสาะหาน้ำ เมื่อมาถึงที่แห่งหนึ่งบนเขา ช้างได้หยุดแล้วใช้เท้าเขี่ยก้อนหินนั้นออกไป ปรากฏว่าใต้แผ่นหินนั้นได้ว่ามีบ่อเล็กๆกว้างประมาณ ๖ นิ้ว มีความลึกสุดประมาณ ที่น่าแปลกแม้ในปัจจุบันบ่อน้ำแห่งนี้ก็ยังไม่พบว่าระดับน้ำได้ลดลงแต่อย่างไร ตำนานเกี่ยวกับ”พนมสวาย”ยังมีอีกมากมาย www.visitsurin.comจะติดตามนำมาเสนอต่อไป
 
 
การเดินทาง
เริ่มต้นจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๒๒ กม. ถนนลาดยางสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔) ระยะทาง ๑๔ กม. และมีทางแยกขวาเข้าไปอีก ๖ กม. อยู่ในท้องที่ ต.นาบัว อ.เมือง จังหวัดสุรินทร์ 
อีกเส้นทางหนึ่ง ออกจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนเส้น สุรินทร์-บุรีรัมย์ ประมาณ ๕ กิโลเมตร(บ้านตะเคียน) เลี้ยวซ้าย ผ่านบ้านตะแสง ทะนง เข้าบ้านสวาย ตำบลสวาย ถึงเขาสวาย ระยะทางประมาณ ๒๕กิโลเมตร (มีป้ายบอกทางตลาดเส้นทาง-ถนนลาดยาง)
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์  โทรศัพท์  0-4451-1975    
ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑  โทร.0-4421-3666, 0-4421-3030 
ทุกวันในเวลาราชการ
 

หมู่บ้านช้าง

เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
               
หากพูดถึงเรื่องความผูกพันธ์อันลึกซึ้งของคนกับช้างแล้วคงต้องยกให้กับ แดนดินถิ่นอีสานใต้ที่เมืองสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมดี มากมีปราสาทหิน ผักกาดหวาน ข้าวสารหอมพร้อมวัฒนธรรม 
ทริปนี้เราพามาเที่ยวชมวิถีชีวิตของคนกับช้าง ที่หมู่บ้านช้าง ณ บ้านกระโพ-ตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์  ซึ่งที่นี่ช้างไม่ได้เป็นแค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ ช้างเปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งชีวิตของครอบครัว  ซึ่งเป็นวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ของชาวส่วยโบราณหรือชาวกวย  ที่ทุกบ้านต้องมีช้างเพื่อเป็นสิ่งมงคลให้กับบ้านเรือนของตนเอง และการเลี้ยงช้างให้อยู่กับบ้านนั้นเป็นสายสัมพันธ์ที่น่าทึ่งมาก ๆ  จนกลายมาเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะทุกครัวเรือนของหมู่บ้านแห่งนี้เลี้ยงช้างไว้แทบทุกหลัง ครับ เราเข้าไปหาช้างกันเลยที่ ศูนย์คชศึกษา แห่งบ้านตากลาง
 

                ช้าง ๆๆๆ ๆ น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า  ช้างนั้นเป็นสัตว์ประจำชาติของไทยเรานะครับ  ซึ่งมีความผูกพันธุ์กับคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในสมัยอดีตช้างเป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกของกษัตริย์ ในการทำยุธหัตถีซึ่งเรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำในภาพวาดจิตรกรรมต่าง ๆ  ดังนั้นช้างจึงเป็นสัตว์มงคลอีกชนิดหนึ่งที่เชื่อถือกันมาตั้งแต่โบราณ   แม้ว่าปัจจุบันจำนวนช้างได้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ  แต่ก็ยังมีการอนุรักษ์ขยายจำนวนประชากรช้างให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ช้างไทยอยู่คู่กับเมืองไทยเราต่อไปครับ
                หากเพื่อน ๆ เดินทางไปงานประเพณีในหลายจังหวัดก็จะมีการแห่ขบวนที่แตกต่างกันออกไป  แต่ถ้ามาจังหวัดสุรินทร์ไม่ว่าจะเป็นงานบุญอะไรก็มักจะได้เห็นช้างเป็นอีกพาหนะสำคัญที่ต้องมีในขบวนแห่แทบทุกงาน ช้างที่จังหวัดสุรินทร์แห่งนี้จึงเป็นช้างเลี้ยงที่มีจำนวนมากในหลายพื้นที่แทบทุกอำเภอ โดยเฉพาะที่ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี และกิ่งอ.พนมดงรัก



                บ้านตากลางหรือหมู่บ้านช้าง จังหวัดสุรินทร์ มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร  ทั้งในด้านภาษาพูดและความเป็นอยู่รวมกันระหว่าง  คนกับช้าง โดยคนในชุมชนจะยึดถือ ศาลปะกำ ช้างเป็นหลัก และยังเป็นชุมชนที่ยังหลงเหลือให้ดูเพียงหนึ่งเดียวในโลกคือ ชุมชนชาวกวยเลี้ยงช้าง   คนและช้างเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวที่มีความผูกพันกันอย่างแนบสนิทตามฐานะอายุของช้างและคน  ถ้าช้างมีอายุมากก็เปรียบช้างเสมือนพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย ถ้าช้างมีอายุน้อยก็เปรียบช้างเสมือนลูก-หลาน ตามธรรมเนียมชาวกวยช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คู่พระพุทธศาสนา มีคุณค่าต่อชาวโลกด้านวัฒนธรรมประเพณีมาทุกยุคทุกสมัย  จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่น ประเพณีกราบไหว้ศาลปะกำประจำตระกูล  วัฒนธรรมประเพณีลอดท้องช้าง  วัฒนธรรมประเพณีบวชนาคแห่นาคด้วยช้าง วัฒนธรรมประเพณีการเคารพกฏ ระเบียบข้อปฏิบัติ ข้อห้ามของหมอช้างเป็นต้น  กลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง
                บ้านกะโพ –ตากลาง  เป็นชุมชนชาวกวยขนาดใหญ่ที่มีเขตติดต่อกันหลายหมู่บ้าน บริเวณริมแม่น้ำมูลและลำน้ำชี  หรือที่เรียกกันว่าชาวส่วยโบราณ(ภาษาส่วยไม่เหมือนภาษาเขมร) ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพหรือวิชาในการออกไปคล้องช้างป่า และนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือหนังประกำ ที่ใช้เป็นเชือกในการคล้องช้าง ใน อดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 2 – 3 เดือน การทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับช้างในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา หลังจากปีพุทธศักราช 2500  เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
                ในหมู่บ้านแทบทุกหลังคาเรือนจะมีศาลประกำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน ศาลปะกำ ที่ชาวบ้านกราบไหว้บูชาเป็นวัตถุที่สมมุติใช้เรียกแทนบรรพบุรุษ ผู้ทรงคุณค่า มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความสามารถทางคชศาสตร์ คชเวช คชลักษณ์ ในการปฏิบัติต่อกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด  ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนิยมเลี้ยงช้างไว้แทบทุกครัวเรือนเปรียบเสมือนช้างเป็นหนึ่งสมาชิกในครอบครัวเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน  จนกลายเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิต ความเชื่อที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้การอยู่รวมกับของช้างกับคนของหมู่บ้านแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่น ๆ เพราะช้างคือหนึ่งชีวิตในครอบครัวที่ขาดไม่ได้  ทำให้คนกับช้างต้องอยู่คู่กันอย่างแยกไม่ออก   



                พิธีกรรมต่างๆในชุมชนคนเลี้ยงช้างของชาวกวยอาเจียง ทุกอย่างมักจะผูกพันเกี่ยวโยงถึงช้างหรือศาลปะกำเสมอ กล่าวได้ว่าช้างมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมจารีตประเพณีต่างๆ มาโดยตลอด ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีศูนย์คชศึกษา การอยู่ร่วมกันของช้างกับคนของที่นี่ก็เป็นไปแบบเรียบง่ายลักษณะแบบชาวบ้านโบราณ เมื่อถึงฤดูทำนาก็จะนำช้างออกไปเลี้ยงไว้ที่นาด้วย เย็นก็นำกลับมาผูกไว้ที่เสาบ้าน เมื่อเข้าหน้าแล้งการหาอาหารให้ช้างค่อนข้างลำบากเพราะอีสานเป็นเมืองแล้ง พืชพรรณต่าง ๆ ไม่ค่อยมี ชาวบ้านก็ขาดรายได้เมื่อทำนาเสร็จ ทำให้ต้องอพยพไปหาอาหารและหารรายได้ในถิ่นอื่น ทำให้ช้างในหมู่บ้านแห่งนี้เข้าไปหากินอยู่ในหลายจังหวัด จนมีการสร้างศูนย์คชศึกษาแห่งนี้ขึ้น ช้างที่รอนแรมในถิ่นอื่นก็หันกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด และได้เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเป็นจำนวนมาก นับเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยอีกแห่งหนึ่ง
                หนังปะกำคืออะไร หลายท่านอาจไม่รู้จัก หนังปะกำคืออุปกรณ์สำคัญในการออกไปคล้องช้างป่า ทำมาจากหนังควายสดสามเส้น  นำมาริ้วกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว  มีความยาวตั้งแต่  30 เมตรขึ้นไปแล้วฟั่นเป็นเกลียว นำไปตากให้แห้งสนิท จากนั้นนำหนังควายทั้งสามเส้นมาฟั่นเป็นเกลียวเข้าให้เป็นเส้นเดียวกัน ความยาวแล้วแต่จะกำหนดส่วนใหญ่ประมาณ 30-50 เมตร  ปลายข้างหนึ่งทำเป็นห่วงเพื่อสอดผูกติดกับช้างต่อ ปลายอีกข้างหนึ่งทำเป็นบ่วงบาศ เพื่อใช้คล้องเท้าช้างป่า และซึ่งมีความเชื่อกันว่าในสมัยก่อนได้มีการลงวิชาอาคมของหมอช้างในหนังปะกำด้วยและมีการบวงสรวงทุกครั้งก่อนออกคล้องช้างในป่า
                การคล้องช้างป่านอกจากหนังปะกำแล้วก็ยังมีอุปกรณ์อีกหลายอย่าง เช่นสายโยงเชือกที่ใช้ผูกช้างป่ากับช้างต่อหรือต้นไม้  , ซังหรือเสนงเกลอุปกรณ์ที่ใช่เป่าในการทำพิธีต่าง ๆ ,แผนกนำ ใช้ดึงส่วนท้ายของช้างต่อเวลาหมอช้างวิ่งขึ้นจะได้ไม่ตกและขึ้นได้ง่าย,ทาม คืออุปกรณ์ที่ใช้ผูกคอช้างป่าที่คล้องได้ทำจากหนังควายเช่นเดียวกับหนังปะกำ ทิงโทน คือโครงสามเหลี่ยมทำด้วยไม้ใส่บนหลังช้างแทนแหย่งในการขนสำภาระ และมีพิธีกรรมอีกหลายอย่าง กว่าจะออกป่าได้ต้องทำต้องดูให้ครบทุกขั้นตอนไม่งั้นก็ไม่สามารถออกได้  ชาวกวยหรือส่วยโบราณ เชื่อว่าหนังปะกำเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชนในอดีต ทำให้ชาวบ้านมีการนับถือหนังปะกำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าผีปะกำ เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาจันถึงปัจจุบัน
                ภายในศูนย์คชศึกษาเป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลางและจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 100 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้านเรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณเป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมาก ๆ  ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารักไม่ดุร้ายและสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน  ภายในศูนย์ หมูหิน.คอม คิดว่าเป็นความไม่ธรรมดา เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขแบบเหมือนพี่น้องเลยทีเดียวครับสุดยอดมาก ๆ เดินเข้าหมู่บ้านช้างทักทายกับช้างกันถึงเสาบ้าน ขึ้นนั่งคอช้าง จับงวง จับขา ลอดท้องช้าง ขี่ช้างเดินชมวิถีชีวิตแล้วพาช้างไปอาบน้ำที่วังทะลุคือจุดที่แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกัน บริเวณนี้เป็นจุดที่ช่วงเย็นควานช้างหรือเจ้าของช้างจะนำช้างมาลงอาบก่อนกลับเข้าไปในหมู่บ้าน สนุกสนานเพลิดเพลินอย่าบอกใครครับ  คนที่ไม่เคยขึ้นนั่งคอหรืออยู่กับช้างแบบใกล้ชิดเข้ามาภายในศูนย์คชศึกษาแล้วรับรองว่า ได้สัมผัสกับช้างแบบตัวต่อตัวแน่นอนครับ
                นอกจากที่เราจะได้ชมวิถีชีวิตของคนกับช้างแล้ว เรายังจะได้ชมการแสดงช้างที่ศูนย์คชศึกษาแห่งนี้อีกด้วย  ซึ่งเราจะได้ชมความสามารถและความน่ารักของช้างแสนรู้ ซึ่งจะมีการแสดงในช่วงเวลา 10.00 น.และเวลา 14.00น.ของทุกวัน และภายในศูนย์คชศึกษายังมีสินค้าที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์จากช้าง มีสินค้าให้เลือกมากมายเหมาะเป็นของฝากให้คนทางบ้านครับ ภายในศูนย์มีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับช้างและวิถีชีวิตของหมู่บ้านช้างมีการจัดแสดงโครงกระดูกช้างของจริงและอุปกรณ์การคล้องช้างต่าง ๆ  ของหมอช้างในอดีต เรียกว่าเข้ามาในศูนย์นี้แล้วได้รู้เรื่องช้างอย่างลึกซึ้งครับ   เป็นการท่องเที่ยวแบบช้าง ๆ ที่สนุกสนานเสียจริง ๆครับ เพื่อน ๆ และคนที่นี่ใจดีเป็นกันเองกับทุกคนที่เข้าไปเที่ยวหมู่บ้านช้าง ชาวอีสานนี่น่ารักมาก ๆครับ
                บนเส้นทางเที่ยวอีสานตอนล่างนอกจากมีหมู่บ้านช้างขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้วยังเป็นดินแดนแห่งปราสาทหิน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมโบราณหลายแห่งตั้งแต่ นครราชสีมาจนถึงจังหวัดสุรินทร์ อาทีเช่นปราสาทหินพิมายจังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทหินอีกหลายแห่งในจังหวัดสุรินทร์เดินทางท่องเที่ยวกันได้ตลอดเส้นทางครับ
                ศุนย์ศชศึกษาหรือหมู่บ้านช้างตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 และ 13 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  044-514447 สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวไปได้เลยครับ
                การเดินทางมายังหมู่บ้านช้างจากกรุงเทพใช้เส้นทาง กรุงเทพ- สระบุรี- นครราชสีมา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพแล้วแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหมายเลข 206 เส้นทาง ไป อำเภอพิมายแยกซ้ายเข้าทางหมายเลข 2175 ไปชุมพวงผ่านอำเภอแคนดง-สตึก-ชุมพลบุรี จากชุมพลบุรีตรงไปยังอำเภอท่าตูมทางหมายเลข 2018 ประมาณ 12 กิโลเมตรจะมีทางเลี้ยวขวาลัดไปยังหมู่บ้านช้างบริเวณบ้านกระสังไปบ้านยางบภิรมย์แล้วตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านช้างหรือบ้านตากลาง เดินทางสะดวกเป็นทางลาดยางตลอดสาย มีป้ายบอกตลอดการเดินทางครับ
                หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ถือว่าเป็นวิถีชีวิตช้างกับคนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เป็นชุมชนของช้างอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยเราที่น่าเข้าไปเยี่ยมชมเป็นอย่างมากครับ หากเพื่อน ท่านไดมีโอกาสเดินทางมาเที่ยวอีสานตอนล่างหรือมาเที่ยวที่จังหวัดสุรินทร์ก็อย่าลืมแวะเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนกับช้างที่หมู่บ้านช้างกันนะครับ รับรองว่าได้อยู่กับช้างแบบใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยมาก่อนอย่างแน่นอนสุด ๆ จริง ๆ  เอาไว้ทริปหน้าหมูหิน.คอม จะพาท่องดินแดนถิ่นอีสานใต้กันอีกนะครับ
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
เด็ก ๆคนเมืองช้างทั้งนั้น
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
สู้ตายคะช้างแสนรู้จริง ๆ คะ
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
ขึ้นหลังแล้วช้างก็พาเดินเที่ยวคะ สนุกมาก
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
ไปเลยไปเที่ยวให้ทั่วหมู่บ้านเลยคับช้างแสนรู้
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
หล่อทั้งช้างทั้งคนเลย
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
สองควานช้างกำลังจะเอาช้างไปอาบน้ำที่วังทะลุ
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
สาวชลบุรีกับช้างสุรินทร์คะ
เที่ยวหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก  ที่บ้านกระโพ-ตากลาง สุรินทร์
อยากขึ้นเป็นควานช้างก็ได้สบายแต่ใจต้องกล้าด้วย