วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วนอุทยานพนมสวาย






วนอุทยานพนมสวาย


เขาสวายมีความสำคัญต่อชาวสุรินทร์มาช้านาน คือ เมื่อถึงเดือนห้าของทุกปี บรรพบุรุษชาวสุรินทร์จะถือเป็นประเพณีหยุดงาน ซึ่งประเพณีหยุดงานดังกล่าว มีความเชื่อว่า ต้องหยุดการทำงานทั้งหมด และพากันไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวาย เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเชื่อว่าหากใครไม่หยุดทำงานจะมีอันเป็นไปทั้งครอบครัว ประกอบกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าของทุกปี ถือว่าเป็นวันปีใหม่ทางจันทรคติ ประชาชนในท้องถิ่นจึงพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อไปทำบุญขึ้นเขาสวาย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายเพื่อความเป็นสิริมงคล
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เห็นว่าประเพณีขึ้นเขาสวาย เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดสุรินทร์ สมควรได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และส่งเสริมให้ควบคู่กับวิถีการดำรงชีวิตของคนสุรินทร์ตลอดไป จึงได้ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลนาบัว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานประเพณีขึ้นเขาสวาย ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่คู่กับจังหวัดสุรินทร์ โดยเข้ามามีส่วนร่วมและ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ ให้มีขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอันยิ่งใหญ่ ตระการตา จำนวน 19 ขบวนแห่
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 จังหวัดสุรินทร์โดยท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ท่านเกษมศักดิ์ แสนโภชน์) ได้เห็นความสำคัญของเขาสวายจึงได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 4,000,000.- บาท เพื่อพัฒนาเขาสวาย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง โดยก่อสร้างศาลา เสานางเรียง และซุ้มประตู ตลอดทั้งพัฒนาทัศนียภาพบนเขาสวาย เพื่อให้มีความสวยงามน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ท่านพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล) ได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงเขาสวาย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ จึงได้สร้างทางเดินบริเวณโดยรอบพระพุทธสุรินทรมงคล ให้สะดวกต่อการเที่ยวชม ก่อสร้างห้องสุขา ปรับปรุงระบบประปาบนเขาพนมสวาย ตลอดจนจัดหาระฆังจากวัดทุกวัดในจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 1,070 ใบ และขอจากวัดสำคัญในกรุงเทพฯ เพิ่มเติมอีก 10 ใบ รวมเป็น 1,080 ใบ นำมาจัดเรียงอยู่สองข้างทางเดินขึ้นเขา ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะขึ้นไปกราบไหว้พระใหญ่ หรือพระพุทธสุรินทรมงคล สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เคาะระฆัง เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มา

ขึ้น"พนมสวาย" สักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์
สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่ขอมมีอำนาจอยู่ในดินแดนนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองก็ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดง

จนกระทั่งปี พ.ศ.2306 จึงปรากฏหลักฐานว่า หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา ย้ายหมู่บ้าน

จากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม และอุดมสมบูรณ์ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น เมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง

ในปี พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็นเมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง

1.พระพุทธสุรินทรมงคล

2.ศาลาอัฏมุข

3.พระองค์ดำ

4.เต่าศักดิ์สิทธิ์

5.ระฆังที่ราวบันได


จากประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของชาวขอม ได้หลอมรวมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ สิ่งหนึ่งคือการยึดถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม)

ประเพณีที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ ในทุกๆ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ชาวสุรินทร์จะพากันเดินขึ้น "พนมสวาย" หรือเขาสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมือง เพื่อสักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์ คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง สถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหิน ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าศักดิ์สิทธิ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อกันว่าการได้ขึ้นเขาสวายเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

เขาสวายอยู่ในพื้นที่วนอุทยานพนมสวาย สภาพทั่วไปเป็นภูเขาเตี้ยๆ มี 3 ยอด คือยอดเขาชาย หรือพนมเปราะ ยอดเขาหญิง หรือ พนมสรัย และยอดเขาคอก หรือ พนมกรอล

ยอดเขาชาย หรือพนมเปราะ มีบันไดทางขึ้น 224 ขั้นไปถึงยอดเขา มีระฆัง 1,080 ใบแขวนอยู่ตลอดทาง จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ทางจังหวัดและคณะสงฆ์สุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดหาระฆังจากทุกวัดรวม 1,070 ใบ และรับมอบจากวัดสำคัญอีก 10 ใบ ที่สำคัญคือระฆังเอกจากวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้ที่จะขึ้นเขา จะมีโอกาสเคาะระฆังเป็นสิริมงคล ส่วนยอดเขาพนมเปราะเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสุรินทรมงคล" หรือพระใหญ่ พระพุทธรูปประจำเมืองสุรินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2518

ยอดเขาหญิง หรือพนมสรัย เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา มีสระน้ำโบราณ 2 แห่ง ที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์ 2 ตัว ต่อมาภายหลังเกิดภัยอันตราย เต่าทั้งสองจึงเดินลงจากเขาแต่ขณะที่เดินทางถึงเพียงไหล่เขา ก็เกิดแข็งตัวกลายเป็นเต่าหินขนาดใหญ่ 2 ตัว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ

ยอดเขาคอก หรือพนมกรอล พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้าง ศาลาอัฏมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากบนยอดเขาชาย โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ใกล้กันนั้นมีสถูปบรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระเกจิสายวิปัสสนา และศาลเจ้าแม่กวนอิม ไว้เป็นที่เคารพสักการะของผู้ที่นับถือ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น