วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วนอุทยานพนมสวาย

งานบุญประเพณีขึ้นพนมสวาย

จังหวัดสุรินทร์ดินแดนแห่งอารยธรรม หลากหลายวัฒนธรรม งานบุญประเพณี “เลิงพนม” หรือที่รู้จักกันทั่วไป "งานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย" เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานเป็นประจำทุกวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (ปี ๒๕๕๑ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน)

นายพูนศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายธงชัย มุ่งเจริญพร นายกอบจ.สุรินทร์ ร่วมกับ นายสุรพล เศวตเศรนี รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายประยุทธ์ เขียวหวาน ฯลฯ
ได้ร่วมกันจัดงานบุญประเพณีส่งเสริม “การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา” ที่พนมสวาย ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วม สวดมนต์ ภาวนา ทำศีลสมาธิ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนพนมสวาย เพื่อความเป็นสิริมงคลเสริมพลังชีวิต
 
ปี ๒๕๕๑ ถือเป็นปีเริ่มต้นที่สำคัญของชาวสุรินทร์ โดยนายพูนศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เชิญชวนชาวสุรินทร์ร่วมกันบริจาคระฆังในนามของวัดต่างๆทั่วจังหวัดสุรินทร์มากถึง ๑,๐๗๐ วัดจัดสร้างระฆัง ๑,๐๗๐ ใบ และเพื่อเป็นศิริมงคลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองปีมหามงคลเฉลิมพระชนม์ครบ ๘๐ พรรษา คณะผู้จัดสร้างระฆัง ได้กราบขอระฆังจากท่านเจ้าอาวาสวัดสำคัญๆ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระเชตุพนฯ วัดระฆังโฆษิตาราม ฯลฯ จนได้ครบ ๑,๐๘๐ ใบ นำมาประดิษฐ์ฐานเรียงรายไว้ที่บันไดทางขึ้นเขาสวาย เพื่อเป็นหนึ่งในกิจกรรมของนักแสวงบุญที่แวะเวียนมา “พนมสวาย” อุทยานธรรมแห่งนี้
สำหรับปีนี้ ได้จัดงานเพิ่มขึ้นอีก ๑ วัน เพื่อเป็นการสมโภชใหญ่ นิมนต์พระเกจิอาจารย์จาก ๑,๐๗๐ วัด ทั่วจังหวัดสุรินทร์ มาสวดมนต์สมโภชระฆัง ในวันเสาร์ที่ ๕ เมษายนตั้งแต่เช้า รวมทั้งจัดพิธีปลุกเสกพระยอดธงที่จัดสร้างขึ้นเพื่อนำรายได้จากการเช่ามาใช้ในการบูรณะอุทยานพนมสวาย
 
เขตอุทยานพนมสวาย
เขตอุทยานพนมสวาย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.สวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์   พนมสวาย เป็นภูเขาที่โผล่ขึ้นมาโดดๆบนที่ราบทำนาของจังหวัดสุรินทร์ ห่างจากเทือกเขาพนมดองเร็กประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ห่างจากเขาพนมรุ้งประมาณ ๕๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร
คำ “พนมสวาย” เป็นภาษาท้องถิ่นเขมร "พนม" แปลว่า"ภูเขา" ส่วน "สวาย" แปลว่า "มะม่วง"
“พนมสวาย” เป็นภูเขาไม่สูงประกอบด้วยเขา ๓ ยอด ได้แก่
ยอดที่ ๑ "พนมกรอล" หรือเขาคอก เป็นที่ตั้งศาลาอัฏฐมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและเป็นที่ตั้งสถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิหลวงปู่ดุล อตุโล และศาลเจ้าแม่กวนอิม ในอดีตบนภูเขานี้จะมีศิลาแลงวางเรียงกันเป็นชั้นๆ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๑ เมตร ลักษณะคล้ายคอก จึงเรียกกันว่า "เขาคอก" ปัจจุบันร่องรอยของศิลาแลงดังกล่าวยังคงอยู่
     
ยอดที่ ๒ เรียกว่า"พนมเปร๊าะ" หมายถึงเขาผู้ชาย สูง ๒๑๐ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลและปราสาทหินเขาพนมสวาย พร้อมบาราย ๓ ลูก(สระน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นตามแบบขอม มีศิลาแลงตัดเป็นก้อนๆรูปทรงสี่เหลี่ยมเรียงรายตั้งแต่ก้นสระถึงส่วนบนขอบสระเพื่อป้องกันดินพัง โดยทั่วไปตามสถาปัตยกรรมขอม จะมี ๔ บาราย ซึ่งเปรียบได้กับมหาสมุทรทั้ง๔ ) และเจดีย์ศิลาแลงโบราณ จำนวน ๑ องค์
   
ยอดที่ ๓ เรียกว่า "พนมสรัย" หมายถึงเขาผู้หญิงสูง ๒๒๘ เมตร เป็นที่ตั้งวัดพนมศิลาราม มีตำนานเรื่องเล่าในอดีตสืบทอดกันมาเชื่อว่ามีถ้ำมหาสมบัติ สระน้ำโบราณ และเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์ ๒ ตัว ซึ่งต่อมาอพยพหนีภัยลงจากเขา แต่ไปได้ถึงเพียงไหล่เขาก็ต้องกลายเป็นหิน เชื่อว่าหากใครลบหลู่หรือปีนป่ายบนเต่าหินศักดิ์สิทธิ์นี้จะเกิดภัยพิบัติแก่ตนเองและครอบครัว
  

วัฒนธรรมประเพณี”เลิงพนม” (ขึ้นเขาสวาย)
”เลิงพนม” ประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรษของชาวเขมรสุรินทร์ พวกเขามีศรัทธาต่อประเพณีนี้อย่างแรงกล้า เมื่อถึงกำหนดทุกวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของขอมคนเขมรสุรินทร์ ทุกคนจะหยุดงานทุกอย่างเป็นเวลา ๗ วัน เพื่อการแสวงบุญขึ้น“พนมสวาย” ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวและบ้านเมือง คนหนุ่มสาวก็จะมีโอกาสได้พบปะสนุกสนานรู้จักกัน หลายรายที่พัฒนาเป็นความรักถึงขั้นแต่งงานครองรักครองเรือนไป และยังเชื่อกันว่าหากใครไม่หยุดงาน จะถึงกับมีอันเป็นไป เช่นถูกฟ้าผ่าตายฯลฯ
 
นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมศิริมงคลแก่ชีวิต ได้แก่ พระพุทธสุรินทรมงคล(เป็นปางประทานพร  ภปร.) รอยพระพุทธบาทจำลอง พระพถทธรูปบนเขาหญิง พระพุทธรูปองค์ดำ อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่สาม ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์

เรื่องเล่าตำนาน
ตำนานเรื่องเล่า เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาสวายมีมากมาย เช่นตำนานเกี่ยวกับ “ก้อนหินใหญ่เคลื่อนที่ได้”  ก้อนหินลอยน้ำได้ บ่อเงิน บ่อขมิ้น เดิมที่นี่จะมีขันน้ำ เงิน และขันทอง วางไว้สำหรับสำหรับผู้แวะเวียนผ่านมาได้ใช้ตักน้ำมาดื่มกิน ตามตำนานยังบอกเล่าถึงบ่อน้ำแห่งนี้ว่า ขณะที่ควานช้างนำช้างผ่านมาบนเขา ท่ามกลางฤดูกาลที่แห้งแล้งมาก หาน้ำดื่มกินไม่ได้ ช้างได้อาศัยววงของมันเสาะหาน้ำ เมื่อมาถึงที่แห่งหนึ่งบนเขา ช้างได้หยุดแล้วใช้เท้าเขี่ยก้อนหินนั้นออกไป ปรากฏว่าใต้แผ่นหินนั้นได้ว่ามีบ่อเล็กๆกว้างประมาณ ๖ นิ้ว มีความลึกสุดประมาณ ที่น่าแปลกแม้ในปัจจุบันบ่อน้ำแห่งนี้ก็ยังไม่พบว่าระดับน้ำได้ลดลงแต่อย่างไร ตำนานเกี่ยวกับ”พนมสวาย”ยังมีอีกมากมาย www.visitsurin.comจะติดตามนำมาเสนอต่อไป
 
 
การเดินทาง
เริ่มต้นจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๒๒ กม. ถนนลาดยางสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔) ระยะทาง ๑๔ กม. และมีทางแยกขวาเข้าไปอีก ๖ กม. อยู่ในท้องที่ ต.นาบัว อ.เมือง จังหวัดสุรินทร์ 
อีกเส้นทางหนึ่ง ออกจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนเส้น สุรินทร์-บุรีรัมย์ ประมาณ ๕ กิโลเมตร(บ้านตะเคียน) เลี้ยวซ้าย ผ่านบ้านตะแสง ทะนง เข้าบ้านสวาย ตำบลสวาย ถึงเขาสวาย ระยะทางประมาณ ๒๕กิโลเมตร (มีป้ายบอกทางตลาดเส้นทาง-ถนนลาดยาง)
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์  โทรศัพท์  0-4451-1975    
ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑  โทร.0-4421-3666, 0-4421-3030 
ทุกวันในเวลาราชการ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น