วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทหินบ้านพลวง

ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท ตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 900 เมตร มีป้ายบอกทางเข้าไปถึงตัวปราสาทได้โดยสะดวกครับ
.

ปราสาทหินบ้านพลวง เป็นปราสาทสรุก หรือศาสนสถานศูนย์กลางประจำชุมชนโบราณ ซึ่งมักจะสร้างขึ้นเป็นหลังเดี่ยว สามหลังหรือห้าหลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหลังกลางจะเป็นที่ประดิษฐาน "ศิวลึงค์" อันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดูลัทธิบูชาพระศิวะหรือ "ไศวะนิกาย" ในราวพุทธศตวรรษที่ 16

.


.

ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหินขนาดเล็กได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี 2514 - 16 โดยวิธีการ "อนัสติโลซิส" (การรื้อมาและประกอบเป็นจิ๊กซอว์ขึ้นไปใหม่ เสริมโครงสร้างและรากฐานใหม่ หินส่วนไหนขาดก็เติมหินใหม่เข้าไปให้สมบูรณ์ โดยไม่ขัดแย้งกับลวดลายศิลปะเดิมของปราสาท) โดย นาย แวนส์ เรย์ ซิลเดรส นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ที่กำลังทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับศิลปะตะวันออกสมัยโบราณอยู่

.
เขาเดินทางสำรวจปราสาทหินมามากมาย ก็ยังไม่ถูกใจ เพราะหลายแห่งเป็นปราสาทแบบ "อโรคยศาลา" จึงไม่มีลวดลายศิลปะการแกะสลักหินให้ศึกษามากนัก จนได้มาพบกับปราสาทหลังหนึ่งในสภาพพังทลาย ทับถมเป็นเนินดินในป่ารกชัฏ ใกล้กับบ้านพลวง

.

ภาพแรกที่เห็นคือลวดลายของหน้าบันที่อยู่เหนือเนินดิน มีรูปเทพเจ้าสลักอยู่สวยงาม เขาจึงเกิดความสนใจ และต้องการที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ตามแนวคิด "อนัสติโลซิส" ที่นิยมใช้กับการบูรณะปราสาทในช่วงนั้น

.

ซิลเดรส ทำเรื่องขออนุญาตกรมศิลปากรและได้รับทุนจากมูลนิธิวิจัยโซเดย์ แห่งสหรัฐอเมริกา มาเป็นงบประมาณในการบูรณะปราสาทบ้านพลวงประมาณ 6 แสนบาทในปี 2514

.
ปราสาทบ้านพลวงเป็นปราสาทหลังเดี่ยว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านอีก 3 ด้านทำเป็นประตูแกะสลักหินเป็นรูปประตูลายไม้ หรือประตูหลอก ตัวปราสาทก่อมร้างด้วยหินทราย ด้านบนเรือนธาตุสร้างด้วยอิฐซึ่งพังทลายลงมาจนหมดแล้ว จึงเหลือตัวปราสาทเพียงครึ่งเดียว มีคูน้ำเป็นรูปตัวยู ( U ) ล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมี "บาราย" หรือสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาก่อน

.


.

ปราสาทหินบ้านพลวง ถึงจะสร้างขึ้นตามแผนผังการวางยันต์มันดาราในคติจักรวาลสากล ตามลัทธิฮินดู แต่ก็มีการผสมผสานลัทธิบูชาพระกฤษณะมาร่วมอยู่ไม่น้อยครับ

.

และด้วยฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ของปราสาทหินบ้านพลวงนี้ ทำให้มีข้อสันนิษฐานกันว่า ปราสาทบ้านพลวงน่าจะมีความตั้งใจสร้างเป็นปราสาท 3 หลังบนฐานเดียวกันในครั้งเริ่มแรก แต่ก็คงเกิดเหตุการณ์สำคัญเช่น สงคราม โรคระบาด ความแห้งแล้ง การย้ายถิ่นฐาน ที่ล้วนส่งผลให้การก่อสร้างปราสาทสรุกหยุดชงักไป

.

แม้แต่ปราสาทที่เห็นอยู่ก็ยังแกะสลักไม่เสร็จนะครับ!!!

.

"หน้าบัน" ทางทิศตะวันออกอันเป็นด้านหน้าขององค์ปราสาท แกะสลักเข้าไปในตัวเรือนปราสาท อันเป็นเทคนิคที่ความนิยมกันในพุทธศตวรรษที่ 16 เพราะหากใช้หินมาทำเป็นหน้าบันแยกออกมา จะต้องเพิ่มฐานและโครงสร้างหินมารองรับอีกจำนวนมาก ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับชุมชนที่มีจำนวนประชากรไม่มากนัก

.


.

ภาพแกะสลักเป็นเรื่องราวของเทพปกรณัม (Mythology) "พระกฤษณะ" กำลังยกเขาโควรรธนะ ป้องกันผู้เลี้ยงวัว โคปาลและโคปีพรรคพวกของพระองค์ จากฝนกรดที่พระอินทร์โปรยลงมา ท่านจะเห็นภาพโคปาลและโคปี รวมทั้งรูปวัว แกะสลักอยู่ที่หน้าบันอย่างชัดเจน

.

เมื่อสังเกตดี ๆ ผมก็ให้นึกขำ ช่างโบราณดันไปแอบบแกะภาพกระรอกกระแตและกวางป่ามาไว้เหนือใบระกาก้านต่อดอกพันธุ์พฤกษา ซึ่งไม่เคยปรากฏเป็นคติในลัทธิความเชื่อใดในการสร้างปราสาทองค์ไหนของวัฒนธรรมเขมร ก็เห็นจะมีแต่ที่นี่แหละครับ

.


.

หน้าบันทางทิศเหนือ ท่าทางจะเป็นช่างแกะสลักคนละคนกันกับทางทิศตะวันออก รูปสลักจึงกลายมาเป็นเทพเจ้าประจำทิศเหนือแทน ซึ่งก็คือท้าวกุเวรประทับบนคชสีห์

.

หน้าบันทางทิศตะวันตก เพิ่งเริ่มจะแกะสลักและหยุดไป ไม่สลักต่อ ซึ่งตามคตินิยมแล้ว "น่าจะ" ตั้งใจสลักเป็นรูปพระวรุณทรงหงส์

.

หน้าบันทางทิศใต้ เป็นรูปบุคคลในท่านั่ง "มหาราชาลีลาสนะ" บนหน้าเกียรติมุข ซึ่งตามคติความเชื่อของฮินดู ควรจะเป็นพระยมทรงกระบือ

.

กลับมาที่ด้านหน้าปราสาททางทิศตะวันออกกันอีกครั้ง จะมีรูปสลักของทวารบาลถือกระบองในซุ้มเรือนแก้ว บริเวณย่อมุมขององค์ปราสาททางซ้ายและขวาของประตู ยังแกะสลักไม่เสร็จครับ

.

และดูเหมือนว่า รูปสลักของทวารบาลถือกระบองทั้งทางด้านหน้าและรูปทวารบาลกับนางอัปสรทางทิศใต้นี้ จะไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกับองค์ปราสาทอย่างแน่นอน เพราะรูปแบบศิลปะแตกต่างไปอย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะแกะสลักในสมัยบายน พุทธศตวรรษที่ 18 มาแล้ว !!!

.

"ทับหลัง" หรือหินใหญ่กดทับหลังประตูเพื่อถ่ายน้ำหนักของหินโครงสร้างปราสาทด้านบนไปทางซ้ายขวา ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของปราสาทนี้ สลักเป็นรูป "พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วเหนือเกียรติมุข ยึดท่อนพวงมาลัยที่คายออกมาจากปาก" พระอินทร์เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์เป็นเทพประจำทิศตะวันออก และเป็นเทพเจ้าที่ท้องถิ่นอีสานใต้โบราณให้ความสำคัญก่อนที่ลัทธิไศวะนิกายและไวษณพนิกายจะมามีอิทธิพลอย่างเต็มตัว

.

จึงมักปรากฏรูปของพระอินทร์ทรงช้าง ในทับหลังหรือหน้าบันทางเข้าหรือทางทิศตะวันออกของปราสาทหินทุก ๆ แห่ง นัยยะคือ"ความหมายมงคลของพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์ (Fertility Ritual)"

.

ทับหลังทางทิศเหนือเป็นรูปสลักเทพปกรณัมรูป "พระกฤษณะกำลังรบกับนาคกาลียะ" เมื่อครั้งนาคกาลียะได้พ่นพิษลงหนองน้ำของหมู่บ้าน ทำให้เหล่าโคปาล โคปีและโคทั้งหลายดื่มกินไม่ได้ พระกฤษณะจึงได้ออกมาต่อสู้กับนาคอย่างดุเดือด

.


.

ทางด้านตะวันตกทับหลังด้านนี้ยังไม่ได้เริ่มแกะสลักรูปใด ๆ ครับ ดูเหมือนว่าทิศด้านหลังจะเป็นทิศสุดท้ายในการแกะสลักของทุกปราสาทหินเสมอ ๆ !!!

.

ด้านทิศใต้ เป็นทับหลังรูป"พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร" จริง ๆ แล้ว ด้านนี้ควรจะเป็นรูปสลักของพระยมทรงกระบือมากกว่า หรือรูปบุคคลด้านบนเหนือขึ้นไปที่หน้าบันจะเป็นรูปพระยมแล้ว

.


.

แต่ทำไมช่างโบราณจึงเอาพระอินทร์มาไว้ในตำแหน่งนี้ ทำไมไม่เอาเรื่องราวเทพปกรณัมของพระกฤษณะมาใส่ไว้ มีปริศนา ความหมายหรือเหตุผลใดซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ ?!!!

.

เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบของรูปสลักที่หน้าบัน เราจะพบรูปสลักของสัตว์นานาชนิดรวมอยู่ในภาพทับหลังอันศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทแห่งเทพเจ้า

.


.

ภาพเล่าเรื่องของสัตว์ชั้นต่ำ ทั้ง ฝูงลิงที่มาเกาะอยู่บนช่อเฟื่องอุบะแทนความหมายภาพฝูงลิงในป่า หงส์ ห่านหรือนกน้ำ กำลังจับปลากินอย่างมีความสุข โดยมีจระเข้แอบจ้องมองอยู่อย่างหิวกระหายในบึงน้ำใหญ่ แม่ม้าพาลูกมาเล็มหญ้า มีเสือคอยจ้องมองอยู่ด้านหลัง วัวนอนหมอบอยู่ทางซ้ายและขวา และสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งแรด หมูป่า และช้าง ในภาพแกะสลักที่ลบเลือน

.

เป็นครั้งแรกที่ปรากฏภาพแกะสลักของ "สัตว์ป่า"และ"สัตว์เลี้ยง" ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวทาง "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ" ให้เห็นสภาพแวดล้อมในอดีตของดินแดนแถบนี้

.

ว่ามีทั้งหนองน้ำ ป่า สัตว์ป่านานาชนิดรวมทั้งจระเข้ !!!!

.


.

และก็เป็นครั้งแรก ที่ภาพของสัตว์ชั้นต่ำได้มาสลักร่วมอยู่บนปราสาทที่อุทิศถวายแก่เทพเจ้า ซึ่งจะไม่ปรากฏในปราสาทใหญ่เพราะไม่ถูกต้องตามหลักคติปรัชญาทางศาสนา

.

แต่ที่ปราสาทบ้านพลวง กลับพบการแหกกรอบความเชื่อ เมื่อช่างท้องถิ่นได้นำความประทับใจใน "บ้านเกิด" อันอุดมสมบูรณ์ของตน มาผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาในเรื่องของ "พระอินทร์" เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์

.

กลายมาเป็นภาพสลักหินของเรื่องราว "ป่าไม้และสัตว์ป่า" จากสภาพแวดล้อมในยุคเขมรโบราณจริง ๆ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยครับ !!!

.

ส่วนภาพสลักตามคติความเชื่อ คือภาพของใบหน้า"เกียรติมุข" หน้าของสิงห์มีแต่ฟันบนไม่มีกรามล่าง บางครั้งก็จะมีลิ้นแลบออกมา มือถือท่อนพวงมาลัยทั้งสองข้าง

.

ภาพของเกียรติมุขหรือหน้ากาล เป็นร่องรอยของการบูชายันต์ "หัวสัตว์" เพื่อความอุดมสมบูรณ์เพื่อบูชาเจ้าแม่ดินในยุคสมัยบรรพกาลก่อนประวัติศาสตร์ทั่วโลก

.

จนเมื่อลัทธิฮินดูไศวะนิกายได้นำหัวตัวพลีกรรมบูชานี้มาใส่ในคติความเชื่อ มีเรื่องเล่าว่า "เกียรติมุขหรือหน้ากาล" เกิดขึ้นจากอำนาจแห่งความโกรธแห่งองค์พระศิวะ เกียรติมุขเกิดจากคิ้วของพระองค์จึงกระโดดออกมาแล้วกัดกินตัวเองแม้กระทั้งขากรรไกรจนหมดสิ้น เหลือแต่หัวท่อนบนลอยไปมา

.

เกียรติมุข จึงแทนความหมายของการโกรธ คือการกัดกร่อนจิตใจและร่างกายของตนเอง หรือ "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า" นั่นเอง

.

เกียรติมุข กลายมาเป็นศิลปะเพื่อสื่อความหมายเตือนใจให้กับผู้พบเห็นได้เข้าใจในความมืดบอดของอารมณ์โกรธา ดังคำรำพันของพระศิวะที่ว่า

.

".... เจ้าเกียรติมุขเอ๋ย เจ้าเกิดจากความโกรธของข้า แล้วข้าได้รู้แล้วว่าความโกรธนั้นจักทำลายทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเองยังกัดกินได้จนหมด ต่อไปนี้เจ้าจงไปเป็นเกียรติมุข สถิตยังเทวสถานเพื่อเป็นคติเตือนใจสาธุชนให้ได้เห็นอำนาจของความโกรธ จะได้ยับยั้งทำลายเสีย มิให้เกิดโทสะขึ้น โลกจะได้ไม่เบียดเบียนกัน และเป็นที่อันเต็มไปด้วยความสงบสุข....."

.

เกียรติมุขจึงกลายมาเป็นความหมายมงคล ช่างศิลปะโบราณได้แต่งเติมรูปมือเข้าไปบางครั้งก็เติมแต่งเป็นตัวสัตว์ ท่อนพวงมาลัยที่คายออกจากปาก แทนความหมายของ "น้ำ" ที่ไหลออกมาสู่เรือกสวนไร่นา ลวดลายพันธุ์พฤกษา ลายก้านต่อดอกในศิลปะการแกะสลักที่พลิ้วขึ้นไปด้านบน แทนความหมายของ "ข้าว"หรือ "ธัญญาหาร" ที่เติบโตเหลืองอร่าม อุดมสมบูรณ์เต็มท้องทุ่ง

.

ภาพความหมายนัยยะแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่มีหน้ากาลอยู่ตรงกลางนี้ จึงเป็นที่นิยมในศิลปะของสังคมที่มีการเพาะปลูก"ข้าว" เช่นเขมรโบราณมายาวนาน และส่งต่อมายังศิลปะของไทยในยุคต่อมา

.

ปริศนาภาพแกะสลักบนทับหลังที่ปราสาทบ้านพลวง ก็คือความหมายของความมงคลในพืชพันธุ์ธัญญาหารที่จะเติบโต หล่อเลี้ยงผู้คนและชุมชนอันเป็นฐานของบ้านเมือง รายล้อมด้วย แหล่งน้ำ ป่าไม้และพรรณสัตว์นานาชนิดนั่นเอง

.

ที่สำคัญปราสาทบ้านพลวง ยังมี "พระอินทร์" เป็นเทพเจ้าในคติศาสนาฮินดู มาเป็นผู้สนองตอบต่อคำสวดวิงวอน และทรงยอมประทับให้หมู่ภาพของสัตว์ชั้นต่ำให้มาอยู่รายล้อม เพื่อให้ผู้ที่มาบูชาที่เทวสถานแห่งนี้จะได้มีความสุขใจ และมั่นใจในผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลผลิตถัดไป

.

ความมั่นใจในความอุดมสมบูรณ์ทั้งใน "ความเชื่อ" (เทพเจ้า) ที่อยู่คู่กับ "ความจริง" (สัตว์ชั้นต่ำ น้ำ ป่า) ที่เขาจะได้ใช้ผลผลิตเหล่านั้นเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย และครอบครัวอันเป็นที่รักตลอดไป

.


.

หากท่านมีโอกาสไปเที่ยวชมปราสาทหินบ้านพลวงอีกครั้ง อย่าลืมแวะไปมุมทิศใต้ของปราสาทเพื่อชมรูปสลักที่มีความหมาย จะกราบไหว้บูชาหรือให้ความเคารพอย่างไร ก็สุดแล้วแต่จะทำกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น