วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทศีขรภูมิ



 ปราสาทศีขรภูมิ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจังหวัดสุรินทร์ได้จัดให้มีงานแสดงช้าง ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาชมกันอย่างเนืองแน่น

นับเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ ถึงปีนี้ ๒๕๕๐ งานแสดงช้างมีย่างอายุ ๔ ปีแล้ว

นอกจากงานช้างแล้ว จังหวัดสุรินทร์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมอีกมากมาย ตามคำขวัญของจังหวัด “สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” ช่วงหลังๆ มานี้มีคนต่อท้ายให้ “ศิลปะการต่อสู้เลิศล้ำ จา พนม”

หากต้องการชมการทอผ้าไหมยกทองของบ้านท่าสว่าง ที่ทอผ้านำไปตัดชุดให้ผู้นำเอเปคใส่เมื่อมาประชุมที่บ้านเรา  ก็สามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก ระยะทางก็ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ราว ๑๐ กิโลเมตร และช่วงนี้กำลังอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว ทิวทัศน์สองข้างทางงดงามยิ่งสำหรับการมาท่องเที่ยวแถบอีสานตอนใต้

สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ไม่อยากให้พลาดชมเมื่อมาถึงจังหวัดสุรินทร์แล้ว นั่นคือ ปราสาทศีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ อยู่ทางทิศตะวันออกของตัวจังหวัดสุรินทร์ ๓๔ กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีสะเกษ

ก่อนอื่นใด ผู้เขียนอยากให้ท่านได้รู้จักอำเภอศีขรภูมิพอสังเขป

“ศีขรภูมิ” (สี-ขอ-ระ-พูม) เป็นชื่อที่หากไม่ใช่คนศีขรภูมิแล้วมักจะอ่านยากและเขียนไม่ค่อยถูก บางคนอ่าน “สี-ขอน-พูม” หรือ “สี-ขะ-ระ-พูม” และก็มักจะเขียนว่า “ศรีขรภูมิ” (เรื่องการเขียนนี้ ผู้เขียนเคยถกเถียงกับไปรษณีย์ที่กรุงเทพฯ ที่หาว่าเขียนผิด จนต้องเอาบัตรประชาชนให้ดู)

แค่ชื่ออำเภอก็ชวนให้ติดตามแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นก็เขียนว่า “ศรีขรภูมิ” ซึ่งก็ยังมีโรงเรียนประถมในอำเภอยังใช้ชื่อนี้อยู่ คือโรงเรียนบ้านระแงง (ศรีขรภูมิวิทยาคม) แต่พอเป็นโรงเรียนมัธยมกลับเขียนว่า “ศีขรภูมิพิสัย” (โรงเรียนที่คุณปวีณา  ทองสุก นักยกน้ำหนักหญิงของไทย เคยศึกษาอยู่) งงไหมละครับ

แต่คำที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการในปัจจบันนี้คือ “ศีขรภูมิ” ซึ่ง “ศีขร” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “ยอด, ยอดเขา, ภูเขา” ในความหมายของ “ศีขรภูมิ” จึงน่าจะมีความหมายในทำนองว่า “ที่สูง”

อำเภอศีขรภูมิถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  ปี ๒๔๘๖ จังหวัดสุรินทร์ได้ทดลองย้ายจังหวัดมาอยู่ที่อำเภอศีขรภูมิ ได้ราว ๖ เดือน โดยศาลากลางนั้นตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านระแงง และในปี ๒๔๘๗ กองทัพของจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ส่งทหารมาตั้งกองบัญชาการที่วัดระแงง (อยู่หน้าสถานีรถไฟ) โดยอ้างว่าเพื่อรักษาเส้นทางรถไฟ เพราะเกรงว่าทหารไทยจะตีตลบหลัง 

อาจารย์ประสงค์  จันทา (อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านระแงง) ได้บันทึกไว้ในประวัติอำเภอศีขรภูมิว่า “ทหารญี่ปุ่นมาตั้งกองบัญชาการที่วัดระแงง ตอนเช้ามีการฝึกแถว ตอนเย็นฝึกกายบริหาร เล่นกีฬา เข้มแข็งเด็ดขาด มีระเบียบวินัยมาก สมเป็นประเทศมหาอำนาจ เมื่อสงครามสงบลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งกำลังมาปลดอาวุธที่วัดระแงง ทหารญี่ปุ่นได้ตั้งแถวและให้เกียรติผู้ชนะอย่างน่าสรรเสริญ คือแสดงอาการนอบน้อมถ่อมตัว เวลารับประทานอาหารก็ยืนคอยรับใช้ทั้งนายและพลทหาร เวลาอาบน้ำก็ตักให้อาบถูเหงื่อไคลให้ รู้สึกว่าญี่ปุ่นได้ฝึกพลเมืองของเขาให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย สมเป็นชาติที่เจริญแล้ว”

ในส่วนนี้ ถ้าหากทางการได้จัดทำอนุสรณ์สถานหรือจารึกไว้ไว้วัดระแงงเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพของจักรพรรดิญี่ปุ่น อำเภอศีขรภูมิก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ขึ้นมาอีกแห่ง

และหากย้อนกลับไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ สถานที่ตั้งของอำเภอศีขรภูมิแห่งนี้ ก็น่าจะเป็นสถานที่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวขอมโบราณ เพราะปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนมาจนถึงปัจจุบันนี้ นั่นคือ “ปราสาทระแงง หรือ ปราสาทศีขรภูมิ”

ปราสาทศีขรภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตามหนังสือทะเบียนโบราณวัตถุทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๑๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มี.ค.๒๔๗๘

ตามเอกสารได้กล่าวถึงลักษณะของปราสาทศีขรภูมิ ดังนี้ 

“ปรางค์ประธาน ก่อด้วยอิฐขัดมัน อยู่บนฐานเดียวกัน ๕ องค์ ฐานก่อด้วยแลง มีบันไดอยู่ทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่กลาง มีปรางค์บริวารอยู่ ๔ มุม ปรางค์ประธานยอดหักเหลือเพียงบัวเชิงบาตร ๓ ชั้น สูง ๑๒ เมตร ฐานกว้าง ๑๐.๖๐ เมตร มีประตูทางทิศตะวันออกทำด้วยหินทรายสีเทา ท้องไม้ของประตูทางด้านหน้า จำหลักลายและรูปอัปสรถือดอกบัว ด้านข้างจำหลักลายและรูปทวารบาลยืนกุมกระบองกับอัปสร ศิลาทับหลังประตูกลางจำหลักเป็นรูปเทพสิบกรอยู่อยู่บนแท่นมีหงส์แบก ๓ ตัว อยู่บนเศียรเกียรติมุข มีมือทั้งสองจับเท้าสิงห์ข้างละ ๑ ตัว รูปสิงห์อยู่ในท่ายืนด้วยสองขาหลัง และอุ้งเท้าของสองหน้ากุมดอกบัวบานออก เกสรเป็นลำพวงมาลัยโค้ง ภายใต้วงโค้งของพวงมาลัย จำหลักเป็นรูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี และมีรูปโยคีสกัดอยู่ทั้งหัวแถวท้ายแถว อยู่เหนือปทุมอาศน์”

ลองนึกภาพของศิลาทับหลังตามที่บรรยายไว้ จะเห็นเทพเจ้าตามหลักศาสนาฮินดูอยู่หลายองค์  ซึ่งปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่บูชาพระศิวะเป็นใหญ่ เทพสิบกรนั่นก็คือพระศิวะกำลังร่ายรำ หรือ เรียกกันว่า “ศิวะนาฏราช” โดยมีเทพอีก ๔ องค์ร่วมบรรเลงด้วย กล่าวคือ ไล่เรียงจากทางด้านขวามือของเราในขณะที่แหงนหน้ามอง ภายใต้วงโค้งของมาลัยนั้นพระคเณศถือดอกบัวและชูงวง คล้ายร่ายรำ (เพราะช้างสุรินทร์เวลาเต้นรำก็มักจะชูงวงตามไปด้วย) ถัดมาคือพระพรหม ในที่นี้จะเห็นเพียง ๓ หน้า (เพราะด้านหลังคงสลักไม่ได้) แต่มี ๔ กร กำลังตีฉิ่งและถือดอกบัว
ถัดมาทางด้านซ้ายจะเป็นพระนารายณ์ ๔ กร สองมือบนถืออาวุธประจำตัวคือจักรและสังข์ (รายละเอียดสูญหายบางส่วน) ส่วนสองมือล่างดูเหมือนอยู่ในท่ารำ ส่วนองค์สุดท้ายก็คือนางปารพตี บ้างก็เรียก พระอุมา หรือ บรรพตี  ซึ่งเป็นมเหสีของพระศิวะ มือหนึ่งถือคฑาส่วนอีกมือหนึ่งนั้นรายละเอียดก็สูญหายเช่นกัน

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นมีเหล่าเทวดา ฤษี หงส์  และสัตว์อีกหลายชนิด

เป็นที่ยอมรับจากนักโบราณคดีว่า ศิลาทับหลังของปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้ สมบูรณ์และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้งนั้นสวยงามที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ แม้แต่คนศีขรภูมิเองก็ยังไม่ค่อยทราบกัน  เพราะหากเอ่ยถึงทับหลังแล้ว ผู้คนมักจะนึกถึงทับหลังของปราสาทพนมรุ้ง เพราะมีชื่อเสียงมาจากการเรียกร้องกลับคืนมาจากสหรัฐอเมริกานั่นเอง

นอกจากทับหลังศิวะนาฏราชที่สวยงามแล้ว ทับหลังของปราสาทศีขรภูมิที่เคยสูญหายไปและตามกลับคืนมาได้อีก ๓ แผ่น ปัจจุบันได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ๒ แผ่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายอีก ๑ แผ่น

โดยแผ่นที่เก็บไว้ในจังหวัดสุรินทร์ แผ่นหนึ่งจำหลักเป็นรูปพระกฤษณะจับช้างและคชสีห์ ส่วนอีกแผ่นหนึ่งเป็นพระกฤษณะจับคชสีห์ทั้ง ๒ ตัว (บ้างก็ว่า “ฆ่า” ไม่ใช่จับ) ทั้ง ๒ แผ่นนี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนที่พิมายเป็นพระกฤษณะจับช้างและคชสีห์

ปราสาทศีขรภูมิมีปรางค์ทั้งหมด ๕ องค์ แต่พบทับหลังถึง ๔ ชิ้น อีกชึ้นหนึ่งน่าจะสูญหายไปพร้อมๆ กับเครื่องประดับองค์ปราสาทอีกจำนวนมาก โดยฝีมือมนุษย์นี่แหละ ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์ประสงค์ได้บันทึกไว้ว่า “ปู่ ย่า ตา ยาย และคนเฒ่า คนแก่ เล่าให้ฟังว่า ในระหว่างสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไปจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีฝรั่งมาดูและเอาเชือกหนังผูก ใช้ช้างลากดึงยอดบัวตูมลงมา เพื่อค้นหาเพชรนิลจินดาและสมบัติอันมีค่า…

ภาพถ่ายเมื่อปี ๒๔๗๒
สำหรับหน้าปราสาทองค์กลางใหญ่นั้น มีการขโมยขุดค้นพระพุทธรูปอันล้ำค่าและสลักหินที่ตกเรียงรายอยู่ในลานปราสาทได้ถูกโจรกรรมไปเกือบหมด ต่อมาภายหลังกรมศิลปากรได้ทราบเรื่อง จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บลายสลักหินที่เหลือไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และสืบทราบว่าผู้ที่มาโจรกรรมลายสลักหินนั้นคือ โจรในเครื่องแบบ(ชมภาพได้ที่นี่ครับ)

เมื่อตอนต้นปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา ชมรมคนรักปราสาทศีขรภูมิ ได้เรียกร้องให้นำทับหลังทั้ง ๓ ชิ้นกลับมาไว้ที่เดิม เป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน แต่ได้รับคำตอบจากกรมศิลปากรว่าให้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์นั้นเหมาะสมดีแล้ว เรื่องนี้ก็คงเป็นประเด็นให้อภิปรายถกเถียงกันต่อไป

ไม่เพียงแต่ศิลาทับหลังเท่านั้นที่เป็นจุดเด่นของปราสาทศีขรภูมิ  ซุ้มประตูองค์กลางที่ประดิษฐานทับหลังนั้น เสาทั้งสองยังสลักรูปนางอัปสรหรือนางอัปสราไว้ทั้งข้างหันหน้าทักทายผู้มาเยือน ส่วนด้านข้างนั้น ได้สลักเป็นนายทวารยืนกุมกระบองทั้งสองเสา

ที่สำคัญคือ เป็นนางอัปสราที่หลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทยเช่นเดียวกัน



นอกจากลวดลายสลักเสลาของทับหลังและเสาที่สวยงามแล้ว เครื่องประดับจำพวกกลีบขนุนก็สวยงามไม่แพ้กัน และสิ่งหนึ่งที่อยากให้ท่านสังเกตถึงลักษณะการก่อปราสาทที่เอกสารระบุไว้ว่าก่อด้วยอิฐขัดมัน อิฐแต่ละก้อนนั้นนอกจากมีขนาดไม่เท่ากันยังประสานกันเป็นเนื้อเดียวอีกด้วย นี่คือความอัจฉริยะของช่างสมัยโบราณโดยแท้
ปราสาทศีขรภูมิถือเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอศีขรภูมิและจังหวัดสุรินทร์ โดยตราประจำจังหวัดสุรินทร์นั้นจะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างอยู่ด้านหน้าปราสาทศีขรภูมิ ในอดีตเมื่อ ๔๐ กว่าปีนั้น อำเภอศีขรภูมิเคยจัดงานฉลองปราสาทอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ว่ากันว่ายิ่งใหญ่กว่างานช้างเสียอีก ในแต่ละปีที่จัดนั้น สามล้อทุกคันจะมารวมตัวกันที่สถานีรถไฟอำเภอศีขรภูมิเพื่อรับส่งผู้โดยสาร

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีชาวอำเภอศีขรภูมิยังคงสืบสานประเพณีการฉลองปราสาทศีขรภูมิมาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยยิ่งขึ้น บางปีมีการแสดงแสง สี เสียงประกอบ โดยใช้ชื่องานว่า “สืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ”

หากท่านมีโอกาสมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์  อย่าพลาดไปชมความงดงามของปราสาทศีขรภูมิให้ได้นะครับ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น